In News

รัฐฯรุกซอฟต์พาวเวอร์ผลิตสื่อรู้ออนไลน์ สอนทำอาหารไทยตอบโจทย์Quick Win



กรุงเทพฯ-รัฐบาลขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ผลิตสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ (e-Book) สอนทำอาหารไทย สอดคล้องนโยบายการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” ตอบโจทย์นโยบาย Quick Win

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ผลิตสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ (e-Book) ด้านการสอนทำอาหารไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) และการยกระดับการสร้างการเรียนรู้และทักษะวิชาชีพสาขาอาหาร ตอบโจทย์สิบสาขาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ตาม Quick Win ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ของรัฐบาล

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือกับผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ซึ่งเป็นวิทยาลัยด้าน  คหกรรมและศิลปกรรมในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ถึงการจัดทำสื่อการเรียนการสอนการทำอาหารไทย ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีข้อมูลและเนื้อหาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติของอาหารไทย การเลือกซื้อวัตถุดิบ การปรุงอาหาร วิธีการและเทคนิคการถนอมอาหาร เป็นต้น มาปรับให้เป็นรูปแบบสื่อออนไลน์ (e-Book) เพื่อให้สอดคล้องกับการ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

นายคารม กล่าวต่อไปว่า การจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ศธ.จะทำงานเชิงรุกเพื่อเตรียมจัดทำเนื้อหาการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบการเรียนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มจาก “สาขาอาหาร” ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันการผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูงสาขาอาหาร ตามแผนการพัฒนากำลังคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลักดันอาหารไทย ที่มีจุดเด่นและอัตลักษณ์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศตามยุทธศาสตร์ฯ ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล โดยมอบให้วิทยาลัยฯ เสาวภา ปรับสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสื่อที่ดีและมีประโยชน์ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นในรูปแบบ e-Book ที่สามารถเผยแพร่ให้นักเรียนนักศึกษา ครู และประชาชนที่สนใจ ได้เรียนรู้เพียงสแกน QR code เท่านั้น โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนของอาหารไทยและอาหารไทยโบราณ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 15 วัน สื่อ e-Book ด้านการเรียนการสอนอาหารไทยก็น่าจะพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชนได้