In Bangkok

จักกพันธุ์สุ่มวัดค่าฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนORC พร้อมตรวจคัดแยกขยะเขตพระโขนง 



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ สุ่มวัดค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน ORC ส่องสวน 15 นาทีหมู่บ้านรุ่งเจริญ 1 ชมคัดแยกขยะชุมชนสุนทรธรรม จัดระเบียบผู้ค้าสุขุมวิท 95 ติดตามระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพงานทะเบียนบัตร ตรวจแยกขยะเขตพระโขนง 

(26 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระโขนง ประกอบด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท โออาร์ซี จำกัด (ORC) ถนนริมทางรถไฟสายเก่า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนเศษทรายตกค้าง ปรับปรุงความสูงของรั้วให้เท่ากันทุกด้าน โดยมีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ปรับปรุงบ่อคายกากและบ่อตกตะกอน ไม่ปล่อยให้ตะกอนปูน เศษหิน เศษทรายล้นออกมานอกบ่อพัก รวมถึงตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 28 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านรุ่งเจริญ 1 ซอยประวิทย์และเพื่อน พื้นที่ 336 ตารางเมตร ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 3 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค พื้นที่ 73.6 ตารางเมตร 2.ที่ว่างซอยวชิรธรรมสาธิต 27 ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว พื้นที่ 122.6 ตารางเมตร 3.ที่ว่างซอยสุขุมวิท 93 พื้นที่ 650 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนสุนทรธรรม ซอยวชิรธรรมสาธิต 57 แยก 37 พื้นที่ 5 ไร่ ประชากร 745 คน บ้านเรือน 123 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2559 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักใบไม้ น้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละบ้านเก็บขายเอง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปให้รถเก็บขยะ ส่วนโฟมแยกเพื่อให้เขตฯ จัดเก็บ และนำส่งเป็นขยะกำพร้า 4.ขยะอันตราย จัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,000-3,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน 

ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสุขุมวิท 95 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 86 ราย ได้แก่ 1.บริเวณซอยสุขุมวิท 95 ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงซอยสุขุมวิท 95 แยก 2 ผู้ค้า 58 ราย ช่วงเวลาทำการค้า ช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 05.00-11.00 น. และช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 15.00-20.30 น. 2.บริเวณซอยสุขุมวิท 101 ตั้งแต่ซอยปุณณวิถี 15 ถึงซอยปุณณวิถี 21 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-12.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงสำรวจจำนวนผู้ค้าที่เช่าพื้นที่หน้าอาคารบริเวณปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงปากซอยสุขุมวิท 95/1 เพื่อให้ขยับแผงค้าเข้าไปภายในอาคาร ไม่ให้ยื่นล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่ ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 30,361 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 26,111 แห่ง ห้องชุด 32,257 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 88,729 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) จำนวนจดหมายตีกลับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ การนำข้อมูลเข้าในระบบให้เชื่อมโยงกัน เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 

จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตพระโขนง โดยสอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงาน ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางรวบรัดขั้นตอนการทำงานเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว 

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ เขตพระโขนง มีข้าราชการและบุคลากร 612 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังแยกประเภทหน้าห้องอปพร. โครงการแยกขวดช่วยพี่ไม้กวาดและขยะกำพร้า 2.ขยะอินทรีย์ ทุกฝ่ายตั้งถังขยะเศษอาหาร มีตะแกรงกรองน้ำแยกจากเศษอาหาร เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บรวบรวมมาทิ้งบริเวณจุดทิ้งเศษอาหารรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักบริเวณที่จอดรถขยะใต้สะพานพระโขนง 3.ขยะอันตราย ตั้งจุดรับขยะอันตรายหน้าห้องอปพร. และข้างห้องฝ่ายทะเบียน 4.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไปตามอาคาร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละอาคารจัดเก็บรวบรวมไปไว้ที่จุดพักขยะรวมบริเวณหลังอาคาร 7 ชั้น สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000-1,200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 380 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน 

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระโขนง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล