In News
รัฐบาลยกความเห็น'ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ' ยันเงินหมื่นดิจิทัลไม่กระทบวินัยการคลัง
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลยกความเห็น ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร นักเศรษฐศาสตร์ระดับภูมิภาค ยืนยันนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง ไม่กระทบ Credit Rating ของประเทศ
วันที่ 28 ตุลาคม 2566 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการให้สัมภาษณ์ของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร นักเศรษฐศาสตร์ระดับภูมิภาค เรื่องเงินดิจิทัล ซึ่งดร.ศุภวุฒิ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจโดยสรุปว่านโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง และไม่กระทบ Credit Rating ของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดร.ศุภวุฒิ ได้กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล ใช้เงิน 5.6 แสนล้าน คิดเป็น 3% ของ GDP ประเทศ และความสามารถของนโยบายที่ทำให้ GDP โต ก็จะทำให้หนี้สาธารณะไม่เยอะ โดย ดร.ศุภวุฒิมีความเห็นว่า หากเป็นไปตามการคาดการณ์เศรษฐกิจของแบงก์ชาติ ในปีหน้า GDP จะโต 4.4% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.4% ก็เท่ากับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะไม่โตเยอะ หรืออาจโตที่ 62% กว่า ๆ เท่ากับปัจจุบันด้วยซ้ำไป ซึ่งปัญหาของเงินดิจิทัลตอนนี้มีเพียงเรื่อง Cash flow เอาเงินมาจากไหน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการใช้จ่าย เพราะแหล่งที่มาของเงินติดปัญหากฎเกณฑ์
นายสัตวแพทย์ชัย กล่าวต่อไปว่า ดร.ศุภวุฒิ ให้ความเห็นถึงกรณีรัฐบาลประยุทธ์ กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.18% ของ GDP แต่ก็ฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ได้ ว่า จุดประสงค์เงินกู้รัฐบาลประยุทธ์ แบ่งเป็น ช่วยเหลือเยียวยา 5.5 แสนล้านบาท ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท และช่วยเหลือการระบาด 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในที่สุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ‘ทำไม่ได้’ ไม่ได้ใช้เลย เพราะการหาโครงการที่ดี ใช้แล้วมีผลทันที ยาก (Impact lag) เงินก้อนนี้ จึงโอนไปเพิ่มการเยียวยา
ขณะที่ในเรื่องเศรษฐกิจดีแล้วจริงหรือ? ดูที่ตัวชี้วัด ดร.ศุภวุฒิ ได้ให้ความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยติดลบ -18.33% แย่ที่สุดในโลก รองจากอิสราเอล -21.1% (YTD/Year to date) และแบงก์ปล่อยกู้ลดลง ไม่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นชัดว่า เศรษฐกิจไม่ได้ดีตามแบงก์ชาติคาด และรัฐบาลเศรษฐายืนอยู่กับปัญหาที่สั่งสมมา และยังไม่ได้แก้ไข ประกอบกับความท้าทายในปัจจุบัน โดย ดร.ศุภวุฒิ ยังให้ความเห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ว่า แบงก์ไม่ปล่อยเงินกู้ ดอกเบี้ยขึ้นเร็วมาก เงินเฟ้อลงเร็วมาก เท่ากับว่า ดอกเบี้ยจริงของเราสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน เพราะเจอปัญหาใหญ่ ทั้งสภาพคล่อง และแบงก์ไม่ปล่อยกู้
นายสัตวแพทย์ชัย กล่าวอีกว่า ดร.ศุภวุฒิ ให้ความเห็นถึงกรณีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหนจึงดี เพราะไม่กระตุ้น เศรษฐกิจอาจฟุบลงด้วยซ้ำ โดยได้อธิบายถึงหลักการเงินดิจิทัลคือ เอาเงินใส่มือ ให้ประชาชนใช้ หากจะหมุนน้อยรอบหน่อย ก็สามารถเข้าใจได้ เปรียบเทียบกับโครงการ เช่น Landbridge ใช้ระยะเวลาจึงจะให้ผลตอบแทน ‘แรง เร็ว ไม่คิดมาก’ จึงสำคัญ และ ดร.ศุภวุฒิ ยังได้อธิบายว่า นโยบายการเงิน ต่างจาก นโยบายการคลัง โดย นโยบายการเงิน คือการขึ้นดอกเบี้ย หรือความตึงของระบบการเงินวันนี้ ผลจะไปเกิดกลางปีหน้าอย่างช้า (อัตราที่ 6-9 เดือน) ส่วนนโยบายการคลัง Impact lag ไม่มี(หมายถึง นโยบายทางการคลังจะส่งผลทันที ไม่เหมือนนโยบายทางการเงินที่กว่าจะส่งผลก็ต้องทอดเวลาไปอีก 6-9 เดือน) ขณะนี้นโยบายการเงินกำลังบีบเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องใช้นโยบายทางการคลังเข้ากระตุ้น
ส่วนถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นที่ควรคิดคือ จะทำให้ GDP โตกว่าหนี้ ได้อย่างไร เพราะเมื่อ GDP โต หนี้สาธารณะต่อ GDP จะลดลง และวินัยการเงินการคลังจะกลับมา นั้น ดร.ศุภวุฒิ ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ในอดีต วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ออก พรบ. รับหนี้กองทุนฟื้นฟู 1 แสนล้านบาทให้เป็นหนี้ของรัฐ สามารถลดหนี้สาธารณะลงจาก 58% เหลือ 40% เพราะทำให้ GDP โตกว่าหนี้
นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิยังกล่าวด้วยว่า ให้เงินประชาชน ต้องไว้ใจประชาชน สิ่งที่ควรทำคือ เสนอแนะให้ประชาชนลงทุน เพราะมีผลต่อความงอกงามของเงิน ซึ่งเรื่องนี้ เงินจะงอกเงยได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการไกด์ของรัฐบาล
“รัฐบาลขอขอบคุณทุกความเห็นจากทุกภาคส่วนที่มีต่อนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ขอยืนยันว่ารัฐบาลยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เห็นต่างอย่างรอบด้าน และพร้อมพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ อย่างรอบคอบด้วยกลไกการดำเนินการอย่างเป็นระบบ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว