In Bangkok

ผู้ว่าฯสัญจรสายไหมเขตท็อป2คนเยอะสุด ลุยพัฒนารอบด้านเท่าจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ สัญจร สายไหม เขตท็อป 2 ประชากรเยอะสุด พร้อมสั่งลุยพัฒนารอบด้านให้สอดคล้องจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น สั่งเอาจริงรับมือ PM2.5 เพิ่มเงื่อนไขป้องกันมลพิษตลอดทางจนถึงไซต์งาน ตรวจควันรถไม่ผ่าน ถูกระงับก่อสร้าง นอกจากนี้เตรียมหารือ อปท. พร้อมรวบรวมข้อมูลเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเกณฑ์ภาษี เพื่อความยุติธรรมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนมาตรการรับมือฮาโลวีนและลอยกระทง พร้อมดำเนินการเข้มข้นและละเอียดขึ้น และเสิร์ฟความสุขฉ่ำ ชวนติดตาม Colorful Bangkok ปลายปีนี้จัดเต็มแสงสีตั้งแต่ลอยกระทงไปจนเคานต์ดาวน์

(28 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของเขต ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เขตสายไหม ว่า  เขตสายไหมเป็นเขตสำคัญที่มีประชากรเป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ (รองจากเขตคลองสามวา) โดยมีพื้นที่ 44.615 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 209,556 คน จะเห็นว่ามีประชาชนย้ายมาอยู่ในพื้นที่นี้จำนวนมาก ปัญหาหลัก ๆ ของเขตนี้ คือสิ่งที่เตรียมไว้ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เข้ามาอยู่ เช่น เรื่องถนนหนทาง การที่มีหมู่บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งดำเนินการในการหามาตรการ รวมทั้งขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ ก็มีน้อย จึงได้ให้ท่านรองผู้ว่าฯ วิศณุ ไปดูเรื่องการแก้ไขปัญหาจุดฝืดต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ได้แจ้งมาว่าให้มองเรื่อง Park and Ride (จุดจอดแล้วจร) ให้เยอะขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถจอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าได้ในราคาถูก แล้วโดยสารรถไฟฟ้าไป-กลับได้สะดวก รวมทั้งอาจจะใช้จักรยานเป็นตัวเชื่อม เช่น เพิ่มที่จอดจักรยานบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ตอนนี้เราทดสอบถนนเทพรักษ์ให้เป็นถนนที่มี Bike Lane บนทางเท้า ลดปริมาณรถที่จะเข้าสู่ถนนใหญ่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักที่ทางรัฐบาลแจ้งมาว่าต้องคิดให้ละเอียดขึ้นเพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพราะเรื่องการจราจรเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ

ส่วนเรื่องน้ำท่วม เขตสายไหมมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 แห่ง ซึ่งปีที่แล้วเราแก้เสร็จแล้ว 2 แห่ง และปีนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าทั้ง 14 แห่ง จะดีขึ้น แต่ยังมีจุดหลักที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมเพราะเป็นจุดที่มีพื้นที่ต่ำ เช่น บริเวณถนนวัชรพล ซึ่งจะต้องมีการปรับถนนต่อไป แต่ภาพรวมสถานการณ์ก็ค่อนข้างดีขึ้น

อีกเรื่องที่ต่อเนื่องจากการที่มีประชากรเพิ่มขึ้น คือเรื่องระบบสาธารณสุข เราไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครอยู่ในพื้นที่เขตสายไหม คนในพื้นที่จึงต้องไปใช้โรงพยาบาลภูมิพล อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เขตจะมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 2 แห่ง โดยมี ศบส.61 เป็นศูนย์ฯ หลัก และศูนย์ฯ ย่อยอยู่แถวออเงิน ซึ่งเรามีโครงการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 2 แห่งให้ดีขึ้น โดยอาจจะทำศูนย์ฯ ย่อยให้เป็นศูนย์หลัก แล้วพัฒนาศูนย์ฯ หลัก ให้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกัน เรามีพื้นที่อยู่ 20 ไร่ที่มีประชาชนบริจาคให้ ก็จะพิจารณาว่าจะสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติมไหม ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะบริเวณนี้มีประชากรมากกว่า 2 แสนคน รวมกับคลองสามวาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ก็มีประชากรกว่า 2 แสนคนเหมือนกัน ซึ่งจำนวนประชากรเทียบเท่าจังหวัดจังหวัดหนึ่ง หากเราสามารถเพิ่มระบบสาธารณสุขให้กับประชาชนได้ก็น่าจะทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจมากขึ้น

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า  อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากคือเรื่องขยะ จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในช่วงแรกการเก็บขยะทำได้ไม่ดี จากเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ว่าทุกจุดในเขตต้องเก็บได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วงประมาณ 2 เดือนที่แล้ว น่าจะเก็บได้แค่ 20% แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บขยะ ซึ่งทำให้การจัดเก็บขยะ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพิ่มมาเป็นกว่า 90% เกือบ 100% ของพื้นที่ ถือว่า ผอ.เขต มีการทำงานที่เข้มแข็ง โดยประสานงานและนำทรัพยากรต่าง ๆ มาลงเพิ่มเติมเพื่อทำให้การจัดเก็บขยะในพื้นที่ดีขึ้นได้

ภายหลังการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรของเขตสายไหม จำนวน 5 คน ได้แก่ นางสุนันท์ ทวีประยูร ลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) บ2 ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ นางสาวนิภาพร ปิยะทัศน์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาฯ นางน้ำอ้อย วังหิน ลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานสวนสาธารณะ บ2 ฝ่ายรักษาฯ นายอนันต์ บุญถนอม ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) ฝ่ายรักษาฯ และนายพิศาล มิสา ลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) บ2 ฝ่ายโยธา  ซึ่งการรับประทานอาหารร่วมกันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม "ผู้ว่าฯ สัญจร" เพื่อพูดคุยกับบุคลากรอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน สอบถามเรื่องทั่วไป รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ และให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมขอบคุณที่ร่วมกันทำงานเพื่อประชาชน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติอีกด้วย

 

จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมคณะผู้บริหารกทม. และผู้บริหารเขต ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหา พบปะพูดคุยกับประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่เขต ประกอบด้วย ชุมชนเกาะแก้ววิลล่า จุดเสี่ยงน้ำท่วมซอยเพิ่มสิน 20 ซึ่งได้มีการเชื่อมท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ปากซอยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม บริเวณหน้าที่ทำการชุมชนเพิ่มสินทรัพย์ ปากซอยเพิ่มสิน 15 ตรวจความคืบหน้าก่อสร้างสวน 15 นาที ที่ กสบ. เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมือง ตรวจเส้นทางจักรยาน ตรวจจุดก่อสร้างทางเข้าเส้นทางลัดใต้ทางด่วนฉลองรัช บริเวณใต้ทางด่วน ปากซอยสุขาภิบาล 5 ซอย 35/1 ตรวจจุดก่อสร้าง ทางออกเส้นทางลัดใต้ทางด่วน ที่ถนนจตุโชติ และตรวจเยี่ยมชุมชนพรพระร่วงพัฒนา สุขาภิบาล 5 ซอย 32

กทม.เอาจริงรับมือ PM2.5 เพิ่มเงื่อนไขป้องกันมลพิษตลอดทางจนถึงไซต์งาน ตรวจควันรถไม่ผ่าน ถูกระงับก่อสร้าง

(28 ต.ค. 66) ณ สำนักงานเขตสายไหม: นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการการรับมือฝุ่น PM2.5 ว่า  ตอนนี้ กทม.ได้มีการตรวจรถควันดำ โดยได้ร่วมกันกับทางตำรวจและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการปรับเป็นการปรับแบบพินัย ทำให้กระบวนการตรวจควันดำของตำรวจและ ขบ. ชะลอลง กทม.จึงจะมีมาตรการที่นำการตรวจควันดำไปพ่วงกับใบอนุญาตก่อสร้าง โดยจะให้ท่านรองผู้ว่าฯ วิศณุ ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  สำหรับใบอนุญาตก่อสร้างเราจะมีการผูกเงื่อนไขไว้ว่าจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษด้วย ฉะนั้น รถที่เข้าไซต์งานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถขนส่งพนักงาน ต้องมีการตรวจควันดำ ถ้าควันดำไม่ผ่านเราจะระงับใบอนุญาตก่อสร้าง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า  นี่เป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้น แต่เดิมคนก่อสร้างอาจจะไม่สนใจ โดยทำแค่ปิดฝุ่นรอบอาคาร แต่จริง ๆ แล้วเขาคือผู้ว่าจ้างรถให้เข้ามาในกรุงเทพฯ ดังนั้น หากเขาว่าจ้างรถที่ทำให้เกิดฝุ่น/เกิดควันดำเข้ามาในกรุงเทพฯ สร้างมลพิษในพื้นที่ เรามีสิทธิให้หยุดการก่อสร้างได้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามาตรการมีความเข้มข้นขึ้นแต่ใช้แรงงานน้อย คือไม่ต้องไปดักจับตามกลางทางที่อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจราจรต่าง ๆ ซึ่งเป็นการป้องกันฝุ่นทั้งในไซต์งาน และป้องกันฝุ่นตลอดเส้นทางที่มีการว่าจ้างรถมา โดยมาตรการนี้จะเริ่มอยู่ในเงื่อนไขที่จะขออนุญาตต่อไป ในส่วนของใบอนุญาตที่หมดก็ต้องเพิ่มเงื่อนไขนี้เข้าไปด้วย หรืออาจเพิ่มไปในเงื่อนไขที่ก่อสร้างอยู่ปัจจุบันเพื่อทำให้เข้มข้นขึ้นอีกขั้น

เตรียมหารือ อปท. พร้อมรวบรวมข้อมูลเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเกณฑ์ภาษี เพื่อความยุติธรรมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

(28 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรุงเทพมหานครทำได้ค่อนข้างดี ที่ผ่านมาเก็บได้ 12,451 ล้านบาท คิดเป็น 161% จากที่ประมาณการไว้ 7,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสียภาษีทั้งหมดประมาณ 721,000 คน ขณะเดียวกันมีข้อสังเกต เช่น ผู้ประกอบการหอพักจ่ายภาษีลดลง 95% เพราะเปลี่ยนจากการพาณิชย์มาเป็นที่อยู่อาศัย เป็นการจ่ายตามประเภทการใช้งานแทนการจ่ายตามรายได้ ซึ่งภาษีที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 0.02% แต่ถ้าเป็นพาณิชย์ 0.3% ทำให้หอพักหรือห้างสรรพสินค้าจ่ายภาษีลดลงมาก เพราะประเมินความเก่าจากสภาพอาคารและราคาที่ดิน ซึ่งกรุงเทพมานครเจอบ่อยก็คือเรื่องนี้ หอพักหรือห้างสรรพสินค้าเสียภาษีน้อยลงเยอะมาก รวมไปถึงเรื่องเกษตรที่อาจจะไม่ได้ทำเกษตรอย่างแท้จริง แต่มีจุดประสงค์หลักเพื่อลดการเสียภาษี นอกจากนี้การปรับช่วงของการประเมินภาษีที่ลดลงจาก 5 ระดับ เหลือ 3 ระดับ ทำให้เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่เสียภาษีลดลง ทั้งนี้กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นผู้ออกมาตรการนี้ กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกมาตรการ จะมีการรวบรวมข้อมูล และอาจหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วนำข้อมูลนี้เสนอกับกระทรวงการคลังให้มีการปรับเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดเก็บภาษี 

ส่วนกรณีลิงในพื้นที่เขตบางขุนเทียน มีการตั้งคณะกรรมการหลายภาคส่วนมาร่วมกัน มีทั้งปศุสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ คิดว่าในเดือนสองเดือนนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรม 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า โบ๊เบ๊ และบางลำพูมีตึกแถวเอกชนเก่า จึงได้มีการขอบริจาคสีจากภาคเอกชนมาทาตึกเหล่านี้ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ตึกและเมืองสวยขึ้น โดยจะมีภาคเอกชนและทหารช่างมาช่วยสนับสนุนในการทาสี โดยเริ่มดำเนินการบริเวณคลองผดุงฯ วันจันทร์นี้ เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของเมืองทำให้เมืองสวยงามขึ้น เชื่อว่าการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยกรุงเทพมานครเป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกและผลักดันให้ จะเห็นว่าหลายปีคลองผดุงฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร จากหัวลำโพงไปถึงตลาดเทเวศร์จะมีภาพลักษณ์ที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งเดือนธันวาคม เป็น Winter Festival ทำให้มีความคึกคักขึ้น แล้วก็จะขยับมาถึงคลองโอ่งอ่าง คลองบางลำภู คลองคูเมืองเดิม และคลองหลอด น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีสีสันและกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ได้

มาตรการรับมือฮาโลวีนและลอยกระทง พร้อมดำเนินการเข้มข้นและละเอียดขึ้น

(28 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการรับมือช่วงเทศกาลฮาโลวีนว่า จริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครทำต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องเกี่ยวกับไฟไหม้ ทางหนีไฟ อัคคีภัย ยาเสพติด และการประกอบการต่างๆ ที่น่ากังวลมากกว่าฮาโลวีนคือลอยกระทงเพราะมีคนจำนวนมาก ปีนี้น่าจะคึกคักมากเพราะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะมีจุดหลัก ๆ หลายจุด เช่น วัดอรุณ คลองผดุงกรุงเกษม และสะพานพระราม 8 ที่ต้องมีมาตรการกำกับดูแลคนเข้าออกในพื้นที่ ซึ่งปีที่แล้วก็มีมาตรการก็ต้องดำเนินการที่ละเอียดเข้มข้นขึ้น

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า จากปีที่แล้วที่มีการทำแผนที่ความเสี่ยง และทำข้อมูลของสถานบันเทิงไว้ ก็ได้กำชับผู้อำนวยการเขตทุกเขตให้เตรียมความพร้อมในกรณีที่เข้าสู่เทศกาลฮาโลวีนรวมไปถึงเทศกาลลอยกระทงด้วยว่า สถานบันเทิงที่จัดงานต้องไม่มีการจุดพลุ รวมทั้งตรวจทางเข้าทางออก และอุปกรณ์ดับเพลิงให้เรียบร้อย นอกจากนี้ให้เขตลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ซอยแคบหรือบางพื้นที่ที่มีงานพวกนี้ ซึ่งในคืนที่มีการเฉลิมฉลองก็จะมีทีมที่คอยตรวจพื้นที่วนอยู่ น่าจะสามารถช่วยเรื่องการควบคุมให้ไม่เกิดความหนาแน่นมากจนเกินไป น่าจะคล้ายกับมาตรการปีที่แล้วแต่เข้มงวดและกระชับขึ้น รวมทั้งเรื่องการตรวจเครื่องเล่น โป๊ะ ท่าน้ำ การรับน้ำหนัก นั่นหมายความว่าในบริเวณที่จัดงานต้องมีการเว้นช่องว่างให้ทีมสามารถเข้าได้ด้วยไม่ใช่แน่นเต็มพื้นที่ อีกทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเอามาประกอบในพื้นที่จัดงานก็ต้องตรวจเข้มงวดขึ้นอันไหนถ้าใช้ไม่ได้ปิดเลย อย่างปีที่แล้วมีปิดโป๊ะ 4-5 ที่

เสิร์ฟความสุขฉ่ำ ชวนติดตาม Colorful Bangkok ปลายปีนี้จัดเต็มแสงสีตั้งแต่ลอยกระทงไปจนเคานต์ดาวน์

(28 ต.ค. 66) ณ สำนักงานเขตสายไหม: นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรม Colorful Bangkok ว่า  กทม.ได้มีการคุยกับทางรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งทางรัฐบาลน่าจะมีการแถลงข่าวที่หัวลำโพงในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ เกี่ยวกับงานที่จะจัดขึ้นช่วงปลายปี เริ่มตั้งแต่ลอยกระทงเป็นต้นไป

สำหรับช่วงลอยกระทงจะมีการเปิดพื้นที่ใหม่ที่คลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน ยาวไปจนถึงช่วงเคานต์ดาวน์ รวมถึงปีนี้จะมีงานริมแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อวิจิตรเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 -31 ธันวาคมและรวมไปถึงเคานต์ดาวน์ด้วย นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการประดับไฟบริเวณคลองผดุงฯ และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั่วพื้นที่ตลอดทั้งเดือน 

"ฝากติดตาม Colorful Bangkok ของกทม. และ Thailand Winter Festival ที่ทางรัฐบาลจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่งด้วย" รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว