In Bangkok
กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบ-เร่งเยียวยาปชช. เดือดร้อนจากคอนโดปากซ.พระนคเรศ
กรุงเทพฯ-นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีชุมชนพระนคเรศฟ้อง กทม.อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการ พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน (PARK ORIGIN CHULA-SAMYAN) บริเวณปากซอยพระนคเรศ ถนนพระราม 4 โดยใช้กระจกเป็นผนังรอบอาคาร ก่อปัญหาแสงสะท้อนเข้ามาในบ้านเรือนรอบชุมชน รวมทั้งส่งผลกระทบจากฝุ่นละอองและเสียงดังว่า จากการตรวจสอบโครงการดังกล่าวได้รับใบแจ้งการก่อสร้างอาคาร ตามแบบ ยผ.4 เป็นอาคารตึก 42 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย (499 ห้อง) ชุดพาณิชย์ (ร้านค้า 2 ห้อง) เป็นของบริษัท พาร์ค ออริจิ้น พระราม 4 จำกัด ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) และได้รับใบรับรองการก่อสร้าง ตามแบบ อ.5
ส่วนกรณีผลกระทบเรื่องฝุ่นละออง เสียงดัง เศษวัสดุและเศษปูนตกใส่หลังคาบ้านตลอดระยะเวลาที่โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โครงการฯ ได้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ขณะที่ผลกระทบด้านการสะท้อนแสงแดดของโครงการฯ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้กำหนดให้กระจกโดยรอบอาคารมีคุณสมบัติการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละ 30 ตามข้อ 27 ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2527) แก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 48 (พ.ศ.2540) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้โครงการฯ ต้องจัดให้มีการชดเชยค่าเสียหาย หรือดำเนินการแก้ไขผลกระทบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากกระจกสะท้อนให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบกับบริษัท พาร์ค ออริจิ้น พระราม 4 จำกัด โดยมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างและสิ้นสุดลงภายในระยะ 1 ปี นับตั้งแต่จดทะเบียนอาคารชุด ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ จะแต่งตั้งคณะกรรมการประสานแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาโครงการ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดแนวทางการชดเชยที่เหมาะสม เป็นรูปธรรม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ทั้งนี้ สนย.ได้เข้มงวดตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อประกอบการพิจารณาการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันได้มีหนังสือแจ้งโครงการฯ ให้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนตามรายงาน EIA นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 สนย.ได้เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับสำนักงานเขตบางรัก ผู้ได้รับความเดือดร้อน และเจ้าของโครงการฯ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า คชก.กทม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการ พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน (PARK ORIGIN CHULA-SAMYAN) ในการประชุม คชก.กทม.ครั้งที่ ๘๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 โดยได้พิจารณาตามหลักฐานทางวิชาการและข้อกฎหมาย ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แล้ว โดยประเด็นการสะท้อนแสงของอาคารโครงการฯ ต่อชุมชนโดยรอบ โครงการฯ ได้ออกแบบอาคารเป็นลักษณะกระจกโดยรอบอาคารซึ่งวัสดุกระจกที่ใช้มีคุณสมบัติการสะท้อนสูงสุดร้อยละ 19 เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2572) แก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 48 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 27 ที่ระบุว่า “วัสดุที่เป็นผิวของผนังภายนอก อาคาร หรือที่ใช้ตกแต่งผิวภายนอกอาคารต้องมีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละ 30 พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การชดเชยเยียวยากรณีชุมชนโดยรอบได้รับผลกระทบจากการสะท้อนแสงแดด รวมทั้งในประเด็นฝุ่นละออง เสียงดัง เศษวัสดุ เศษปูนตกใส่หลังคาในช่วงก่อสร้าง และผลกระทบด้านการบดบังทิศทางลม โดยโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้อย่างครอบคลุมแล้ว และหากมีการร้องเรียนจะต้องดำเนินการตามผังกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ คชก.กทม.เห็นว่า โครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงาน EIA เป็นไปตามแนวทางรายละเอียดและประเด็นที่กำหนด ประกอบกับได้รับฟังความคิดเห็นของชุมชน และได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาไว้อย่างครบถ้วน จึงได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โดยมาตรการต่าง ๆ ในรายงาน EIA จะกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้าง หรือรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร ซึ่งโครงการจะต้องถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคาร ส่วนการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA มีทั้งการติดตามตรวจสอบโดยหน่วยงานที่อนุญาต ได้แก่ สำนักการโยธา กทม.และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตบางรัก นอกจากนี้ เจ้าของโครงการจะต้องจัดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการในการรายงาน EIA ให้ กทม.เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่โครงการฯ จะต้องถือปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด
นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนขณะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งได้ติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจากชุมชนซอยพระนคเรศที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างอาคาร ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการในช่วงประมาณปี พ.ศ.2563 - 2566 อย่างต่อเนื่อง โดยจัดประชุมร่วม เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เสียงดัง เศษวัสดุ และเศษปูนตกใส่หลังคาบ้าน รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายร่วมกับชุมชน ตัวแทนผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของโครงการฯ ตลอดจนประสานแจ้งสำนักการโยธา กทม.ร่วมตรวจสอบแก้ไขปัญหาตลอดระยะเวลาการก่อสร้างอาคารดังกล่าว