In Global
นักบินอวกาศยานเสินโจว-16 ของจีน เดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย
นักบินอวกาศ หรือไทโคนอตแห่งยานเสินโจว-16 (Shenzhou-16) ของจีน เดินทางกลับมายังโลกอย่างปลอดภัยเมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2566 หลังจากปฏิบัติภารกิจ 154 วันในสถานีอวกาศของประเทศจีน
แคปซูลส่งกลับของยานอวกาศเสินโจว-16 พร้อมกับไทโคนอตทั้งสามนายได้แก่ จิ่ง ไห่เผิง, จู หยางจู้ และกุ้ย ไห่เฉา ลงจอดที่จุดลงจอดตงเฟิงในทะเลทรายโกบีเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน หรือเน่ยเหมิงกู่ ทางตอนเหนือของจีน เมื่อเวลา 8.11 น. ตามเวลาปักกิ่ง (เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ตามรายงานองค์การอวกาศจีน (CMSA)
ตามข้อมูลของ CMSA ระบุว่า นักบินอวกาศทั้งสามนายมีสุขภาพที่ดี
หน่วยงานดังกล่าวได้ประกาศว่าภารกิจเสินโจว-16 เป็นภารกิจแรกในขั้นตอนการใช้งานและการพัฒนาของสถานีอวกาศของจีน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์
จิ่ง ไห่เผิง ผู้บัญชาการภารกิจเสินโจว-16 เป็นคนแรกที่ออกจากแคปซูล และประสบความสำเร็จในการเดินทางในอวกาศครั้งที่สี่ เขาเคยไปอวกาศมากกว่านักบินอวกาศคนอื่นๆ ด้วยระยะเวลาภารกิจในวงโคจรสะสมเกิน 200 วัน
เขาบอกกับ CMG หลังจากที่เขาออกมาจากแคปซูลว่าเป็นการเดินทางไปยังสถานีอวกาศจีนที่ยอดเยี่ยม
“เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภารกิจ” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าบรรลุภารกิจที่ “ไม่มีข้อผิดพลาด”
“ไม่มีการดำเนินการใดผิดพลาด” จิ่งกล่าวเสริม
ขณะที่ จู หยางจู้ วิศวกรการบินคนแรกของประเทศในอวกาศ ระบุว่า “รู้สึกดีมากที่ได้กลับบ้าน”พร้อมเสริมว่าเขาตั้งตารอที่จะได้กลับไปยังสถานีอวกาศจีนในอนาคต
ด้าน กุ้ย ไห่เฉา ซึ่งเป็นนักบินอวกาศจีนที่เป็นพลเรือนคนแรก ยังได้แสดงความปรารถนาที่จะ "เดินทาง" ไปยังสถานีอวกาศอีกครั้ง“ทุกๆ วันเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ที่สถานีอวกาศจีนในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา” เขากล่าว
ยานอวกาศเสินโจว-16 พร้อมนักบินอวกาศจีน แยกออกจากสถานีอวกาศจีนในคืนวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม หลังจากนั้นพวกเขาได้ถ่ายภาพพาโนรามาความละเอียดสูงของสถานีอวกาศโดยมีโลกเป็นพื้นหลัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายภาพเช่นนี้
ยานอวกาศเสินโจว-16 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม จากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน
ระหว่างอยู่ในสถานีอวกาศเป็นเวลา 5 เดือน นักบินอวกาศทั้งสามนายของยานอวกาศเสินโจว-16 ได้เสร็จสิ้นภารกิจต่างๆ มากมาย รวมถึงกิจกรรมนอกยาน การบรรยายวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 4 "ชั้นเรียนเทียนกง" และงานติดตั้งนอกยานหลายรายการ
นักบินอวกาศจีนยังได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับลูกเรือภาคพื้นดิน โดยได้ทำการทดสอบและการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมปัจจัยมนุษย์ เวชศาสตร์อวกาศ นิเวศวิทยาสิ่งมีชีวิต เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ของไหล และเทคโนโลยีอวกาศและความก้าวหน้าที่สำคัญบรรลุผลสำเร็จในสาขาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตในอวกาศและการวิจัยของมนุษย์ ฟิสิกส์แรงโน้มถ่วงต่ำ และเทคโนโลยีอวกาศใหม่
แหล่งข้อมูล:https://news.cgtn.com/news/2023-10-31/Shenzhou-16-spaceship-lands-in-N-China-1olc9FnPzXO/index.html
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0JNvoKK7k4yvPz8AYFDqaxiHCVVkmGy9EJW2PH33HMAJ66i7i7aLzPJnQASBs8c3El&id=100064570308558
#จีน #อวกาศ #ยานอวกาศ #นักบินอวกาศ #เสินโจว16 #Shenzhou16 #cctv #cgtn #cmg