In Thailand

สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำบางปะกงเสื่อมโทรม คนเก่าแก่ชี้สมัยก่อนปลาดุกหาได้ใกล้ฝั่ง



ฉะเชิงเทรา-สิ่งแวดล้อมในลำน้ำบางปะกงแย่แล้ว คนเก่าแก่ระบุเมื่อก่อนชาวบ้านไม่ต้องออกเรือไปหาปลาดุกทะเลไกลจากฝั่ง จนทำให้เรือถูกคลื่นลมพัดล่มเกือบเอาชีวิตไม่รอด ล่าสุดครอบครัวหนุ่มหาปลาวัย 46 ปี ยังควานหาเรือที่จมหายไปกลางทะเลไม่พบ วอนฝากผ่านสื่อถึงหน่วยงานกู้ภัยฯ องค์กรการกุศลที่มีอุปกรณ์ค้นหาช่วยเหลือด่วน หลังแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐหลายแห่งต่างเมินพากันบอกปัดวุ่น ระบุไม่ใช่หน้าที่โอดหลังเรือจมหายเหมือนถูกตัดมือเท้าไม่มีอาชีพทำกิน

วันที่ 3 พ.ย.66 เวลา 14.00 น. น.ส.พิมล อุดมทั้งตระกูล อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 85/7 ม.3 ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี ภรรยาของนายหลอด วิชัยวงษ์ อายุ 46 ปี หนุ่มหาปลาผู้ประสบภัยถูกคลื่นลมซัดจนเรือประมงขนาดเล็กล่ม เมื่อช่วงเวลา 02.00 น. ของเมื่อวานนี้ (2 พ.ย.66) ที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านยังค้นหาเรือหาปลาของตนเองไม่พบ หลังจากได้เริ่มออกค้นหากันมาตั้งแต่เมื่อช่วงบ่ายวานนี้จนถึงเวา 19.00 น. จนหมดหนทางที่จะค้นหาเจอ

จึงอยากวิงวอนไปถึงยังหน่วยงานกู้ภัยฯ หรือองค์กรการกุศลที่มีเครื่องมือในการค้นหา หรือมีนักประดาน้ำมาช่วยเหลือครอบครัวของตนบ้าง เพราะเหมือนกับถูกตัดมือตัดเท้าไม่มีเครื่องมือในการทำกินแล้ว เนืองจากอาชีพประมงชายฝั่งเป็นเพียงอาชีพเดียวที่ต้องใช้เรือในการหาเลี้ยงครอบครัว หลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เดินทางไปแจ้งหลายหน่วยงาน และโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือยังหน่วยงานราชการหลายแห่ง กลับถูกปฏิเสธที่จะให้การช่วยเหลือทั้งหมด โดยเฉพาะเทศบาลท้องถิ่นในพื้นที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี ที่ได้ปฏิเสธกลับมาโดยระบุว่า “ไม่ใช่หน้าที่”

ขณะที่ในวันนี้ นายหลอด ผู้เป็นสามีได้เดินทางไปแจ้งเหตุเรือล่มยังที่ สภ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ไว้แล้ว โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือยังหน่วยงานเจ้าท่า และหน่วยงานประมง ซึ่งคาดว่าจะเดินทางไปแจ้งในวันจันทร์ที่ 6 พ.ย.66 นี้ หลังจากในวันนี้ได้ไปแจ้งยังหน่วยงานประมงในพื้นที่ จ.ชลบุรี แล้ว แต่ถูกปฏิเสธว่าให้ไปแจ้งยังที่ สำนักงานประมง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ท้องที่เกิดเหตุ น.ส.พิมล กล่าว

ขณะที่ นายปรีชา สุวรรณ์ อายุ 79 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 ม.1 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เฒ่าแห่งเมืองสามน้ำ (น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย) โดยประกอบอาชีพอยู่กับทะเลและชายฝั่งมานานเกือบตลอดทั้งชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะสภาพสิ่งแวดล้อมในลำน้ำบางปะกง ที่สามารถสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน จากเดิมในช่วงฤตูกาลนี้ ที่น้ำเค็มกำลังเลื่อนขึ้นมาสูงจนถึงปากอ่าว ระหว่างเตือน ต.ค.- ก.พ. ของทุกปี มักจะมีปลานานาชนิดเข้ามาหากินยังในบริเวณกลางลำน้ำบางปะกงใกล้ปากอ่าวเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะปลาดุกทะเลที่หนุ่มเรือล่มจาก จ.ชลบุรี ต้องออกไปหาไกลจากชายฝั่งหลาย กม.นั้น จะเข้ามาจนถึงในลำน้ำบางปะกงเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีฝูงโลมาซึ่งชื่นชอบกินปลาดุกทะเลเป็นอาหารนั้น ต่างพากันตามฝูงปลาดุกเข้ามาไล่งับกัดกินปลาดุกทะเลกันในบริเวณนี้ โดยเฉพาะเมื่อปี 2543 ที่มีทั้งโลมาปากขวด โลมาหัวบาตร และโลมาเผือก ที่ต่างพากันเข้ามาหากินปลาดุกจนถึงภายในลำน้ำบางปะกง จนทำให้มีการออกเรือรับจ้างพาเที่ยวชมโลมากันอย่างคึกคักต่อเนื่องในช่วงเวลานั้นอีกหลายปีถัดมา

ส่วนชาวบ้านในบริเวณนี้ ก็ต่างพากันนำเรือออกไปไล่ช้อนส่วนหัวของปลาดุกทะเล ที่ถูกโลมากัดกินลำตัวไปแล้วแต่ยังไม่ตาย นำส่วนหัวมาประกอบกินเป็นอาหาร และมีบางส่วนได้นำออกไปขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ในปัจจุบันนี้สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้ว จนทำให้ไม่มีฝูงปลาเข้ามาในบริเวณนี้ตามฤดูกาล และไม่มีฝูงโลมาเข้ามายังในบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงอีกแล้ว 

โดยจะสามารถพบเห็นฝูงโลมาได้ในระยะไกลออกไปจากปากแม่น้ำบางปะกงมาก ถึงเกือบ 10 กม. ขึ้นไปเท่านั้น เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้น มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาก่อตั้งกันเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงอยากให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่ และโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ได้มีจิตสำนึกในการช่วยกันรักษาความสะอาดให้แก่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในลำน้ำบางปะกง ที่มีความสำคัญต่อชาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอย่างมากไว้ด้วย นายปรีชา กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา