In Global
ยลศิลปะจีนใน'วัดไทย'ที่วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
วัดราชโอรสาราม หรือที่หลายคนเรียกว่า “วัดราชโอรส” หรือชื่อเดิมคือ “วัดจอมทอง” เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เป็นวันที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งด้วยศิลปะวัตถุที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยศิลปะจีนผสมศิลปะไทย
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อปีพ.ศ. 2363 กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฏิสังขรณ์วัดและถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงการตกแต่งศิลปกรรมต่างๆ ภายในวัด ด้วยในสมัยนั้นพระองค์ทรงกำกับกรมท่า และมีการติดต่อทำการค้าจากประเทศจีน และทรงนิยมศิลปะแบบจีนเป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศิลปะวัตถุต่างๆ ภายในวัดราชโอรสารามด้วยศิลปกรรมแบบจีนเป็นส่วนใหญ่ผสมผสานกับศิลปะแบบไทย กลายเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้
ภายในวัดมีสถานที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถ มีลักษณะของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างไทยและจีน เช่นหลังคาเป็นแบบจีน 2 ชั้นแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบต่างๆ เป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติความเชื่อจีน เช่น มังกร หงส์ นกยูง อยู่รอบแจกัน บริเวณหน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ มีนายทวารบาล เป็นตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ 3 ตัวขนาดใหญ่ เป็นรูปชาวจีนหน้าตาน่าเกรงขามยืนเฝ้าประตู ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับกระเบื้องสีปูนปั้นลวดลายดอกเบญจมาศ บานประตูด้านนอกลงรักประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นลายเครื่องบูชาและสิ่งมงคลแบบจีน
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือ พระวิหารพระนอน ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นพระวิหารขนาดใหญ่โดดเด่นด้วยศิลปะจีน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้น ที่บานประตูและบานหน้าต่างด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นที่เรียกว่า “กระแหนะ” เป็นรูปเสี้ยวกางแบบไทยยืนอยู่บนประแจจีน ในเมือถือแจกันดอกเบญจมาศและพานผลไม้
พระวิหารพระยืน อยู่ด้านซ้ายของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบบจีนทั้งหลัง หน้าบันเป็นลวดลายประแจจีน ประดับด้วยเครื่องถ้วย ภายในมี 2 ห้อง ห้องแรกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ห้องที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานหมู่พระพุทธรูปหลายปางหลายขนาด
นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญ หรือ เรียกอีกชื่อว่า พระวิหารพระนั่ง อยู่ด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีลักษณะผสมทางศิลปกรรมระหว่างไทยและจีนเช่นเดียวกัน โดยหลังคาเป็นแบบจีนลด 2 ชั้นแต่มุงกระเบื้องแบบไทย บนสันหลังคาประดับรูปถะ หรือ สถูปเจดีย์ ระหว่างมังกรล่อแก้ว 2 ตัว และกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีน ผนังด้านนอกตอนบนเขียนรูปผลไม้ สัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เช่นส้มมือ หมายถึง ความมีวาสนาสูง ทับทิม หมายถึง ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ และผลท้อ หมายถึง ความมีอายุยืน
วัดราชโอรสารามจึงเป็นวัดที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี และยังเป็นต้นแบบของวัดไทยที่มีการนำรูปแบบของสถาปัตยกรรมจีนและศิลปะจีนมาใช้ในการตกแต่งวัดด้วย
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย