EDU Research & ESG
เปิดภาพฤดูกาลชมดาวแห่ชมคึกทั่วไทย 'ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี'
ปราจีนบุรี-วันนี้ 4 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่าได้รับแจ้งจากงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยบรรยากาศเปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว 2566-2567 สุดคึกคักในคืน “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” 3 พฤศจิกายน 2566 พร้อมเผยภาพดาวพฤหัสบดีในคืนใกล้โลกบันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ในภาพปรากฏให้เห็นแถบเมฆ จุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์แกนีมีด พร้อมเงากำลังเคลื่อนผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี จากนี้เชิญชวนชาวไทยติดตามปรากฏการณ์ และร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ตลอดหนาวนี้
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สดร. จัดงานเปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว 2566-2567 ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เริ่มต้นฤดูกาลชมดาวหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นพร้อมกัน 5 แห่ง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา ได้รับความสนใจจากประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง แต่ละหอดูดาวมีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาร่วมเปิดเทศกาลชมดาวหลายพันคน
ในคืนดังกล่าว สดร. ได้เชิญชวนประชาชนชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีผ่านกล้องโทรทรรศน์ ไฮไลท์ คือ จุดแดงใหญ่ แถบเมฆ และดวงจันทร์กาลิเลียน (ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต) ช่วงเวลาประมาณ 21:00-22:00 น. ยังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี เป็นช่วงที่ดวงจันทร์แกนีมีดผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี สังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ที่สามารถชมได้ ได้แก่ ดาวเสาร์ กาแล็กซีแอนโดรเมดา ดาวคู่ และกลุ่มดาวที่น่าสนใจในช่วงเดือนพฤศจิกายน ฯลฯ
บรรยากาศการเฝ้าชมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในปีนี้เป็นไปอย่างคึกคัก ประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจติดตามชมเป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคของไทยสามารถชมดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่า สดร. ยังจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ฯ ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อม Special Talk เปิดโผกิจกรรมและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามที่จะเกิดขึ้นตลอดเทศกาล ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในทาง www.facebook.com/NARITPage
ปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Jupiter Opposition) เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวพฤหัสบดีโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร
สังเกตได้ด้วยตาเปล่า สว่างสุกใส ขนาดใหญ่ สีส้มแดง ทางทิศตะวันออกหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และปรากฏยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หลังจากนี้ดาวพฤหัสบดียังคงปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงค่ำ จนถึงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2567 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในทุกๆ ประมาณ 13 เดือน ครั้งต่อไปดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปีตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม 2567