In News
นายกฯลงพื้นที่เขตอีอีซีตรวจ4เรื่องสำคัญ 'ท่าเรือ-น้ำดิบ-พัฒนาเกษตร-นิคมรถอีวี'
กรุงเทพฯ-นายกฯ ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชมรถยนต์ต้นแบบ EV ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี ย้ำอีก 2 เดือนจะมาติดตามความก้าวหน้า EEC อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ได้เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ พร้อมพบปะเกษตรกร พื้นที่ จ.ระยอง ย้ำรัฐบาลใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม-เกษตรแม่นยำ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าในเวลา 4 ปี และ ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง ติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับ EEC ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และแรกสุดได้ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง หารือศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนัก กำชับเร่งรัดดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผน
วันนี้ (4 พ.ย. 66) เวลา 15.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ณ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจเยี่ยมด้วย โดยคณะผู้บริหารบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำเยี่ยมชมและบรรยายสรุปเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีและคณะรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม WHA ESIES2 ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม มีที่ตั้งห่างจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและศรีราชา 25 กิโลเมตร อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์ โลหะภัณฑ์ พลาสติกและโพลิเมอร์ เป็นต้น และมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รวมทั้งบริการออกแบบและพัฒนาโรงงานสำเร็จรูปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นับได้ว่าปัจจุบันมียอดจำหน่ายอย่างก้าวกระโดด โดยมีปัจจัยสำคัญจากรถยนต์มีคุณสมบัติที่สูงขึ้น วิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้น และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอาเซียน ทั้งในด้านคมนาคม แรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของนักลงทุน
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 และมีการขยายการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งการผลิตรถยนต์สันดาปภายในและเครื่องยนต์ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ Hybrid EV, Plug-in Hybrid EV และ Battery EV และแบตเตอรี่ และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยการลงทุนทั้งในส่วนการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวมทั้งสิ้น 6 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 14,760 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง 6 ข้อเสนอ เพื่อพิจารณาเพื่อช่วยสนับสนุน การประกอบธุรกิจ และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน EEC จาก WHA ได้แก่ 1) การกำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์ ที่ดินสำหรับพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 10 ถึง 15 ในผังเมืองรวมชุมชน ใน EEC ให้สามารถจัดสรรที่ดิน เพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้ พรบ.กนอ. ได้ 2) ปรับปรุงขั้นตอนและลดระยะเวลาในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) บนมาตรฐานการพิจารณาที่รัดกุมเช่นเดิม 3) การปรับระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสาธารณะประโยชน์ ตาม พรบ.กนอ. ให้มีความกระชับมากขึ้น 4) การจัดสรรน้ำดิบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงในอนาคต 5) การเพิ่มแนวทางให้ผู้พัฒนานิคมสามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียน 100% ให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ได้มากขึ้น 6) ขอให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขา EEC ผู้ว่า กนอ. สมาคมนิคมอุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคม เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยกำหนดแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม สนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้พัฒนานิคมและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมใน EEC ในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนิคมอุตสาหกรรม การจัดการระบบน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และ Renewable Energy
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าข้อเสนอทั้ง 6 ข้อที่ WHA เสนอมานั้นสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนรถยนต์ EV เพราะสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งเป็นการสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) โดยจะให้เงินอุดหนุนแก่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นที่น่าพอใจของนักลงทุนต่างประเทศทุกคน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอดังนี้ 1) ขอให้เร่งการผลิตรถไฟฟ้าโดยเร็วเพื่อให้ไทยไปสู่ Carbon Neutrality ให้ได้ 2) พัฒนาห่วงโซ่ของการผลิต supply chain ทั้งหมด 3) เรื่องแบตเตอรี่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเรื่องการ reuse และรีไซเคิลแบตเตอรี่ และการทำลาย ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ต่อยอดรัฐบาลที่แล้ว ในเรื่องของการที่ผลักดันให้รถ EV เข้ามาเปิดในประเทศไทย โดยรัฐบาลนี้ก็จะทำต่อและขยายผลต่อไป และจากการที่ได้เดินทางไปต่างประเทศก็ได้มีการพูดคุยกับทางภาคเอกชนและรัฐบาล เพื่อให้ต่างประเทศมีความเข้าใจว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ไม่มีเวลาไหนที่ดีเท่าเวลานี้อีกแล้ว ที่จะให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในที่นี่
สำหรับข้อเสนอในข้อที่ 6 เรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่เดินทางโดยรถไฟมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับฟังปัญหาต่าง ๆ ทำให้พบค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประเด็น แต่ปัญหาก็แฝงด้วยศักยภาพหากสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะเป็นการ Unlock ทรัพย์สินของประเทศชาติ ให้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นอย่างมโหฬาร ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า EEC เป็น Concept และเศรษฐกิจที่ดี และมีองค์กรที่แข็งแกร่ง ทั้งบีโอไอ และ EEC โดยเลขาบีโอไอและเลขา EEC ก็เป็นคนที่มีความสามารถ และตั้งใจจริงในการที่จะพัฒนาประเทศให้สูงไปสู่อีกระดับหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวตามที่ WHA เสนอนั้น เราไม่ต้องการให้เป็นคณะกรรมการคณะใหญ่ เพราะเวลาเชิญประชุมก็จะเสียเวลาเป็นเดือน วันนี้นายกรัฐมนตรีจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น คือ East look of doing Business in EEC ซึ่งฝ่ายสื่อสารจะไปพิจารณาชื่อที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รวมทั้งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม มี 2 เลขา และอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ส่วนข้อเสนอในข้ออื่น ๆ ของ WHA ทั้งปัญหาเรื่อง EIA ผังเมือง ตลอดจนเรื่องของรางน้ำและท่อน้ำต่าง ๆ นั้น รัฐบาลตระหนักดีและจะพยายามช่วยเหลือให้เร็วกว่า 5 ปี รวมไปถึงเรื่องของน้ำ รัฐบาลนี้ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งภาคเกษตรกรรมถือเป็นภาคใหญ่ของประเทศไทย จึงไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำและการเตรียมแหล่งน้ำนั้นยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอในการพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าอีก 2 เดือนจะมาติดตามความก้าวหน้าของ EEC อีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชมรถยนต์ต้นแบบไฟฟ้าพร้อมเซ็นชื่อบนรถยนต์ต้นแบบดังกล่าวและแบตเตอรี่ ด้วย
นายกฯ เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ พร้อมพบปะเกษตรกร พื้นที่ จ.ระยอง
ก่อนหน้านี้เวลา 14.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ และพบปะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มประมง ปศุสัตว์ พัฒนาที่ดิน และกลุ่มวิชาการ เป็นต้นสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้มอบพันธุ์ปลาตะเพียนจำนวน 1,000 ตัวให้กับผู้แทนเกษตรกรและได้รับฟังบรรยายสรุปศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ เนื่องจากสภาพพื้นที่เดิมของจังหวัดระยอง-ชลบุรี เป็นสภาพป่าที่ถูกทำลาย ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร และประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ รายได้ลดลง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ สามารถส่งน้ำมายังพื้นที่ดังกล่าวได้ และทรงแนะนำให้จัดเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร สำหรับผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงฯ มีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน 14 หน่วยงาน มีผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้อำนวยการศูนย์ พื้นที่เป้าหมายหลัก คือหมู่บ้านขยายผลบริเวณรอบศูนย์ ตำบลแม่น้ำคู้ จำนวน 7 หมู่บ้าน โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และหน่วยงานปกติ มีผลดำเนินงานสรุปได้ เช่น การพัฒนาด้านการเกษตร มีการศึกษาวิจัยทดสอบด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์และดิน รวมถึงระบบเกษตรอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ โดยจัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เช่น หลักสูตรการเลี้ยงสัตว์ปีกพัฒนาสู่ระบบอินทรีย์ หลักสูตรโรงเรือนอีแวปอัจฉริยะ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะกับเกษตรกรว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ที่มีองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชนทุก ๆ คน พร้อมขยายผลไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเรื่องการเกษตรถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ เราต้องการจะส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในเวลา 4 ปีผ่านการใช้ การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และการใช้เกษตรแม่นยำ จะเห็นได้จากที่นายกฯ ได้เดินทางไปต่างประเทศ หนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ได้เดินทางไปคือการเปิดตลาดการค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร การปศุสัตว์หลาย ๆ อย่าง โดยมีขั้นตอนต่อไปที่จะต้องดำเนินการหลายขั้นตอน ซึ่งทางตลาดต่างประเทศก็ได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายเอกชนของเขาก็มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีจากประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องอ่างเก็บน้ำ ว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีน้ำก็ลำบาก ฉะนั้น การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำดอกกราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการพูดคุยและให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหาระหว่างกัน โดยในเรื่องฝายซอยซีเมนต์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ให้ความสำคัญ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะมีการขยายผลเรื่องการทำฝายซอยซีเมนต์ไปทั่วประเทศ หากเห็นว่าจังหวัดนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าภาคอื่น ขอให้ติดต่อรับบริการได้ที่ สทนช. ส่วนเรื่องการขนส่งทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเรา ปัจจุบันคนไทยบริโภคทุเรียนเฉลี่ย 5 กก./คน ขณะที่คนจีนบริโภคทุเรียนเฉลี่ยไม่ถึง 1 กก./คน ฉะนั้น จึงจะสามารถขยายไปได้อีก โดยไม่ต้องไปไกลถึงคนมาเลเซียที่บริโภคทุเรียนเฉลี่ย 11 กก./คน หากคนจีนบริโภคทุเรียนเฉลี่ย 5 กก./คน ก็น่าจะทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นได้ถึง 7 เท่า นอกจากนี้ ปัญหาที่เกษตรกรได้นำเสนอ เช่น เรื่องพื้นผิวถนนที่เป็นพื้นที่ใน สปป.ลาว นั้น ก็เป็นเรื่องที่คงจะไปพูดคุยกับ สปป.ลาวได้ แต่จะไปบอกให้เขาทำนั้นคงจะลำบาก ส่วนเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งทุเรียนมีฤดูไฮซีซั่น อยากให้มีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการเพิ่มตู้โบกี้ช่วงไฮซีซั่น หากเพิ่มตู้ตลอดทั้งปีอาจจะไม่เหมาะสม โดยหากมีการวางแผนล่วงหน้า ก็เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ จะสามารถแก้ไขได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องแหล่งเก็บน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน ว่า รัฐบาลมีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นโครงการนำร่องอยู่ที่ จังหวัดชัยนาท ที่อีกประมาณ 1 เดือนกว่า ๆ จะแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยการเจาะแหล่งเก็บน้ำจะต้องเจาะให้ลึกทะลุชั้นดินเหนียว ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใต้ดินสำหรับใช้ได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ จะขอให้มีการมาพูดคุยกับจังหวัดระยองเพราะเรื่องน้ำที่จังหวัดระยองก็มีความสำคัญ หากสามารถทำธนาคารน้ำใต้ดินได้จะสามารถลดภาระเรื่องการใช้น้ำ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมด้วย
นายกฯ ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง ติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับ EEC
13.30 น. ณ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปแผนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตเศรษฐกิจ EEC จากนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รวมทั้งรับฟังสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำรับมือผลกระทบจาก El Nino แผนพัฒนาแหล่งน้ำในอนาคตในพื้นที่ EEC จากผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาที่ทุกคนตระหนักดี ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงการขาดแคลนน้ำในการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในบางพื้นที่ ซึ่งการใช้น้ำมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประชาชน ทั้งด้านอุปโภคบริโภค ด้านการเกษตร การรักษาระบบนิเวศ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ EEC ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ เป็นพื้นที่ที่ต้องโฟกัส การใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ที่มีความต้องการใช้น้ำสูง ทั้งนี้ ปัญหาของขัดแย้งของประชาชนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เกี่ยวกับปัญหาการแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก โดยสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอมีหลายประเด็น ทั้งแผนการพัฒนารองรับความต้องการน้ำ การเชื่อมต่อท่อส่งจ่ายน้ำ เชื่อว่าทุกหน่วยงานได้ทำการศึกษามาดี
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก คือการเชิญนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในด้านน้ำและพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการที่จะดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่น ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ดังนั้น จึงยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่จะขาดแคลนน้ำเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการทำงาน ร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง สทนช. กรมชลประทาน กระทรวงอุตสาหกรรม บีโอไอ ทั้งนี้ การที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแผนงานมานำเสนอวันนี้เป็นเรื่องที่ดี และไม่อยากให้ความล่าช้าเกิดขึ้นในการบริหารจัดการเรื่องนี้ ดังนั้น หากมีปัญหาติดขัดในเรื่องใดรัฐบาลพร้อมที่จะบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการสื่อสารกับประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ อยากให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งน้ำเกิดขึ้น หากตรงไหนมีปัญหาเกิดขึ้นขอให้แจ้งมาได้
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำต่าง ๆ การขุดเจาะและการเชื่อมโยงส่งน้ำว่าล้วนเป็นเรื่องสำคัญ การลงทุนครั้งนี้มั่นใจว่าจะคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด ซึ่งหากไม่ทำตรงนี้ ก็ไม่สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ และในอนาคตที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาล ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ ต้องให้ความสำคัญ
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการลงพื้นที่ EEC ครั้งแรกวันนี้ว่า รู้สึกดีใจที่ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน ซึ่งเรื่องน้ำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญที่ได้มีการหยิบยกมาพูดคุยกัน พร้อมกล่าวว่าจะกลับมาที่นี่อีกใน 60 วันข้างหน้า เพื่อมาดูเรื่องการแก้ไขเรื่องความขัดแย้งที่ยังไม่ถูกบริหารจัดการไป ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจะทำงานอย่างรวดเร็วฉับไว และตอบโจทย์พี่น้องประชาชนและนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีดูสถานีสูบน้ำหนองปลาไหล 1 และติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล พร้อมยังได้ติดตามความก้าวหน้าข้อสรุปการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก หรือท่อส่งน้ำอีอีซีระหว่างบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้รับสัมปทานรายใหม่ และบริษัท จัดการและการพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ผู้รับสัมปทานรายเดิม
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า เรื่องน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญ ในอดีต รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางไปเชิญนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทย สองเรื่องหลักที่เขาสนใจคือเรื่องพลังงานไฟฟ้าสะอาด กับเรื่องการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในภาคอุตสาหกรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของการปั๊มน้ำเข้ามาจากแหล่งต่าง ๆ และเรื่องการจัดส่งน้ำที่ภาคเอกชนอาจจะมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นเป็นความขัดแย้ง วันนี้จากการร่วมมือกัน โดยการแก้ไขปัญหาจากเลขาธิการ EEC ที่ได้นำสองภาคส่วนคือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ และบริษัท อีสต์วอเตอร์ ที่มีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น แต่ตอนนี้มีการแก้ไขปัญหาตรงนี้เรียบร้อยแล้ว นายกฯ จึงมาเป็นสักขีพยานว่า ณ เวลานี้ที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญมีการเขียนข่าว เสนอแนะข้อมูลมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา บัดนี้ มีข้อยุติในการร่วมมือของทั้งสองฝ่ายแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ก้าวข้ามปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคส่วนนี้ไปได้ ซึ่งตรงนี้จะให้ความมั่นใจกับนักลงทุนที่รัฐบาลจะไปเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย ว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรีในนามของรัฐบาลไทย ขอบคุณทั้งสองบริษัทที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขอให้ลืมไป ขอให้ทุกคนร่วมกันช่วยพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าให้ได้
สำหรับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เป็นโครงการซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและจะทำหน้าที่ส่งน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พื้นที่ส่งน้ำประมาณ 30,000 ไร่ ทดแทนน้ำที่เคยส่งไปจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย ซึ่งขณะนี้ถูกส่งไปที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมีแผนที่จะส่งไปยังอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม โดยน้ำจากอ่างเก็บน้ำของโครงการหนองปลาไหล จะใช้สนับสนุนในกรณีที่อ่างเก็บน้ำดอกกรายไม่เพียงพอที่จะส่งให้พื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม และจะส่งไปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ อำเภอศรีราชา เพื่อใช้สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำระยอง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดของภาคตะวันออกอีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจด้วย
นายกฯ ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง หารือศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนัก
เวลา 11.30 น. ณ หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบังและพูดคุยประเด็นศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนักในการนําเข้าและส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เข้าร่วมด้วยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง โดยในปี 2566 ท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับจำนวนเรือสินค้าผ่านท่า 11,700 เที่ยว ปริมาณสินค้าผ่านท่า 94.1 ล้านตัน 8.67 ล้าน TEU (Twenty-Foot Equivalent Unit) รถ 1.5 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนส่งออก ร้อยละ 49.8 และนำเข้า ร้อยละ 50.2 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และบูรณาการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานร่วมทั้งระบบราง ระบบถนน และทางทะเล เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป สำหรับความคืบหน้างานรับเหมาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 ส่งมอบพื้นที่ 31 สิงหาคม 2565 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 ส่งมอบพื้นที่ 1 ตุลาคม 2566 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 คาดว่าส่งมอบมิถุนายน 2567 ทั้งนี้ กำหนดแล้วเสร็จ 29 มิถุนายน 2569 โดยสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (บริษัท จีพีซีฯ) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดส่งมอบ พื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัท จีพีซีฯ ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ
นายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงคมนาคม และเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการก่อสร้าง ตามระยะเวลา และเป้าหมายของโครงการฯ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงการที่ กทท. จะเร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ยกระดับสู่ Smart Port รองรับกรุงเทพฯ ในการที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของไทย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับชมพื้นที่ภาพรวมการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง จากหอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมระบบการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง