In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติย้ำร้านอาหารยังปิดเวลาเดิม เปิดถึงตี4เน้นสถานบริการในพื้นที่โซนนิ่ง



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ สถานประกอบการทั่วไปยังปิดเวลาเดิม ไม่ถึงตี 4 หากมีประกาศฯ จะเน้นสถานบริการในโซนนิ่งก่อน

(4 พ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรเขตบึงกุ่ม ว่า  เขตบึงกุ่มเป็นเขตขนาดใหญ่พอสมควร มีพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 137,000 คน เป็นเขตที่เป็นที่อยู่อาศัยเยอะ มีถนนหลักอยู่ 4-5 สาย อาทิ ถนนเสรีไทย ถนนนวมินทร์ ถนนนวลจันทร์ ปัญหาหลัก ๆ จะเป็นเรื่องน้ำท่วมต่าง ๆ ซึ่งได้รับการแก้ไขไปมากพอสมควรแล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องการเดินทาง ปัญหารถติด เพราะว่าเขตบึงกุ่มไม่มีขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน รถเมล์ก็มีน้อย แต่โดยภาพรวมแล้วเขตบึงกุ่มทำเรื่อง Traffy Fondue ได้ค่อนข้างดีในเรื่องการแก้ไขปัญหาของประชาชน

อีกเรื่องสำคัญคือ เรื่องการแบ่งโซนนิ่งที่ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีเมื่อวาน คือการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ได้เน้นย้ำว่ายังไม่มีการเปิดสถานบริการทั่วไปถึงตี 4 ปัจจุบันสถานบริการจะมีอยู่ 2  แบบ คือสถานบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย กับสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ซึ่งสถานประกอบการทั้งหมดในเขตบึงกุ่มไม่มีสถานบริการเลย จะเป็นร้านอาหารที่มีดนตรีและมีขายสุรา แอลกอฮอล์ ร้านเหล่านี้เปิดได้ถึง 01.00 น. ยังไม่ขยายเวลา ส่วนสถานบริการที่ขยายเวลาจะอยู่ในโซนนิ่ง 3 โซน เช่น สีลม พัฒน์พงศ์ อาร์ซีเอ เพชรบุรีตัดใหม่ รัชดาภิเษก และกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการก่อน พ.ร.บ. ตัวนี้มีประมาณ 200 กว่าแห่งในกรุงเทพมหานคร เรื่องนี้หากกระทรวงมหาดไทยตกลงก็คงออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ขยายเวลาให้ถึงตี 4 รวมถึงสถานบริการที่อยู่ในโรงแรมด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถดูแลได้ละเอียดขึ้นและไม่กระทบกระเทือนต่อประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ในภาพรวมสถานประกอบการร้านค้าต่าง ๆ อาทิ ย่านทองหล่อ ยังปิดเวลาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ขณะนี้จะเน้นเป็นสถานบริการซึ่งอยู่ในโซนนิ่งก่อนตามที่กฎหมายกำหนด

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ตามพ.ร.บ.สถานบริการ ซึ่งกทม.จะจัดการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ คือสถานบริการที่มีใบอนุญาตสถานบริการตามมาตรา 3 (1) (2) (3) (4) และ (5) ให้ขยายเวลาถึงตี 4 ส่วนร้านอาหารที่มีดนตรี มีการแสดงดนตรี มีการจำหน่ายสุรา ในที่ประชุมแจ้งว่าอาจจะลดระดับลงมาที่ประมาณตี 2 ในส่วนของกฎหมาย กฎกระทรวง หรือประกาศสำนักนายกฯ ทางฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการ กรุงเทพมหานครอนุญาตเฉพาะในส่วนของร้านอาหาร สะสมอาหาร จำหน่ายอาหาร และสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือ เรื่องการใช้เสียง การแสดงดนตรี ซึ่งท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการว่าให้เข้มงวดในเรื่องของการออกใบอนุญาตและใช้เอไอในการควบคุมการประกอบกิจการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือที่เรียกว่า “ตีกิน” กับเรื่องของใบอนุญาตสถานบริการ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องฝุ่น PM2.5 ว่า จะเห็นได้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการเผาชีวมวลมาก แต่เป็นฝุ่นที่มาจากรถยนต์โดยตรง เราวัดฝุ่นเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นถ้าอากาศไม่ปิด อากาศปกติ อากาศเปิด ฝุ่นจากรถยนต์ในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 20 ถึง 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะเป็นสีเขียวหรือเหลือง แต่พออากาศเริ่มปิดอย่างเช่นวันนี้อากาศเริ่มปิด ฝุ่นรถยนต์เหมือนเดิม แต่จะเพิ่มมาเป็นประมาณ 50-60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือเริ่มสีเหลือง สีส้มตามมาตรฐานใหม่ ส่วนอนาคตถ้าเกิดมีฝุ่นจากด้านนอกมา เช่น เผาชีวมวล บวกรถยนต์ บวกอากาศปิด ค่าฝุ่นก็จะเป็น 90 หรือ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง 

คำถามว่าตอนนี้ทำอย่างไรได้บ้าง กทม.มีเรื่องที่ดำเนินการอยู่ คือ ตรวจรถควันดำ และในช่วงที่ 2-3 วันผ่านมา ได้มีการตรวจเพิ่มเติม คือลองตรวจรถที่ตรวจควันดำผ่าน ว่ายังปล่อย PM2.5 อยู่หรือไม่ พบว่าก็ยังปล่อยอยู่เป็นปริมาณมาก เพราะว่าจริง ๆ แล้วการตรวจควันดำที่ใช้กระดาษกรองไปวัดค่าฝุ่น อาจจะเป็น PM10 เป็นฝุ่น PM ขนาดใหญ่ รถธรรมดาก็ยังปล่อยฝุ่น PM2.5 ออกมาอยู่ ดังนั้นหัวใจของการต่อสู้กับ PM2.5 ตอนนี้คือการลดการใช้รถยนต์ ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมทั้งอาจจะต้องใช้รถที่อาจจะมีคุณภาพที่ดีหรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อย PM2.5 น้อยลง ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องหารือร่วมกับหลายภาคส่วน กทม.หน่วยงานเดียวคงไม่สามารถลดจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ได้ ต้องร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพยายามลดการใช้รถยนต์และใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะลด PM2.5 ในเบื้องต้นได้ ส่วนการเผาชีวมวล ในระยะยาวคงต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งกระทรวงเกษตรฯ หรือกรมควบคุมมลพิษในการกำกับเรื่องการเผาชีวมวล

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า มิติสำคัญคือเรื่องของการป้องกันสุขภาพพี่น้องประชาชน ขณะนี้สำนักการศึกษาได้ทำการสำรวจมาแล้วว่าห้องเรียนอนุบาล 2 และอนุบาล 3 ทั้งหมด 1,700 ห้อง ติดตั้งแอร์แล้ว 800 ห้อง ซึ่งสำนักการศึกษาได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการซื้อเครื่องฟอกอากาศแล้ว โดยห้องที่มีแอร์ก็สามารถติดตั้งได้เลย เพื่อปกป้องสุขภาพสำหรับนักเรียน ส่วนสำนักอนามัยได้เตรียมพร้อมโดยลงพื้นที่ในเรื่องการให้ข้อมูลชุมชน แจกหน้ากากอนามัย สำนักการแพทย์เตรียมคลินิกปลอดฝุ่นใน 8 โรงพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพอย่างเต็มที่

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรสำนักงานเขตบึงกุ่ม จำนวน 5 คน ได้แก่ นางสาวยุวชลี ฟองศรีจันทร์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) ฝ่ายโยธา นางสาวนราวดี วงษา ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ นายธภัทร ศรีเจริญ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) นายสมชาติ อิ่มสำราญ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) นางสาววิลาสินี มาลี ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ โดยวันนี้เมนูที่ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมรับประทานกับบุคลากร ประกอบด้วย ข้าวกะเพราเนื้อไข่เจียว เกาเหลาเนื้อ ผลไม้ และไอศกรีม

จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจจุดฝืดถนนเสรีไทย บริเวณแยกนิด้า ตรวจพื้นที่โครงการก่อสร้าง อาคารบังคับน้ำเชื่อมบึงพังพวยกับคลองแสนแสบ ของสำนักการระบายน้ำ บริเวณแยกนิด้า ตรวจเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุข 50 บึงกุ่ม ถนนเสรีไทย ตรวจเยี่ยมชุมชนซอยสมหวัง บริเวณซอยเสรีไทย 21 ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านนาริสา กรณีประสงค์ยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ บริเวณซอยเสรีไทย 29 ตรวจพื้นที่การก่อสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบ เชื่อมเขตบึงกุ่ม-เขตสะพานสูง ของสำนักการระบายน้ำ บริเวณชุมชนอัสสลาม ซอยเสรีไทย 24

สำหรับกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” ในวันนี้มีนายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม