In News
คลังเดินหน้าร่วมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ชู'สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์'แก้หนี้เสื้อคุมดำ
กรุงเทพฯ-ตามที่นายกฯ และ รมว.คลัง ให้ความสำคัญของการจัดการเรื่องหนี้นอกระบบโดยถือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงรับภาระหนี้ที่เกินกว่าเงินต้นเป็นจำนวนมาก
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความสำคัญของการจัดการเรื่องหนี้นอกระบบโดยถือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงรับภาระหนี้ที่เกินกว่าเงินต้นเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้กับประชาชนรายย่อยในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม รวมถึงการแก้ไขและจัดให้มีแนวทางป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบในเวลาเดียวกัน โดยได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) วงเงินไม่เกินรายละ 50,000 - 100,000 บาทต่อราย ซึ่งเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันแล้วสูงสุดไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก
ทั้งนี้ ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,129 ราย กระจายอยู่ทุกภาคใน 75 จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดอ่างทองและจังหวัดสิงห์บุรี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (631 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (207 ราย) ภาคเหนือ (152 ราย) ภาคตะวันออก (79 ราย) และภาคใต้ (60 ราย) ตามลำดับ โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3,695,932 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 35,590.70 ล้านบาท ทั้งนี้ ประชาชนผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการ ได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th นอกจากนี้ กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดทำแผนปฏิบัติการและโครงการพัฒนาทักษะทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายซึ่งรวมถึงกลุ่มเปราะบางทางการเงินเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการเงินและเข้าถึงข้อมูลทางการเงินเพื่อให้มีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในการดำเนินชีวิตและไม่ก่อหนี้สินเกินตัว โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.fpo.go.th และ Facebook ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างแก้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น สามารถช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทางการเงิน หนี้นอกระบบ การคำนวณอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 และเตือนภัยการเงินนอกระบบแก่ประชาชน เช่น เตือนภัยไม่ให้หลงเชื่อ SMS หลอกลวงและแอปพลิเคชันปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหด เตือนภัยพฤติกรรมการชักชวนลงทุนและการกู้ยืมเงินที่เข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ ภายใต้พระราชกําหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เป็นต้น ผ่านทางเว็บไซต์ www.1359.go.th
สำหรับประชาชนที่มีหนี้นอกระบบสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามได้ที่ สายด่วนของธนาคารออมสิน โทร. 1115 และ สายด่วนของธ.ก.ส. โทร. 0 2555 0555 นอกจากนี้ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือโดยตรงจากหน่วยงานของภาครัฐผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 0 2575 3344 และศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359