EDU Research & ESG
มูลนิธิสัมมาชีพประกาศรางวัลเอสเอ็มอี ต้นแบบสัมมาชีพ’66ยกย่องธุรกิจสุดปัง!
กรุงเทพฯ-มูลนิธิสัมมาชีพ ประกาศผลรางวัลเอสเอ็มอี ประจำปี 2566เพื่อยกย่องธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโต ควบคู่รับผิดชอบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และเป็นต้นแบบแก่กิจการอื่น พร้อมมอบรางวัลเกียรติยศ 17 พ.ย. นี้
นายมานะผล ภู่สมบุญ ประธานคณะกรรมการรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ มูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้มีมติคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพโดดเด่นในการทำธุรกิจเข้ารับรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2566 จำนวน 5 ราย โดยรางวัลดังกล่าวมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจของเอสเอ็มอีซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศให้มีความก้าวหน้า และเพื่อสร้างความตระหนักในวงกว้างถึงการทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อการดูแลชุมชนสิ่งแวดล้อม
สำหรับเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพประจำปี2566มี 5 ราย คือ บริษัทไทยทิชชูคัลเจอร์อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดบริษัทพิมธาจำกัดบริษัทสไมล์ฟาร์มฟู้ดแอนด์เซอร์วิสจำกัด บริษัทอัฟนานจิวเวลรี่จำกัด และบริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด
“รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพในปีนี้ มีความน่าสนใจเพราะมีความหลากหลาย และหลายรายได้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ BCG ที่มีโอกาสเติบโตสูง สะท้อนถึงความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม รางวัลนี้นอกจากจะกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเกิดการพัฒนา ต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ทางมูลนิธิสัมมาชีพและภาคีเครือข่ายยังจะร่วมมือกันส่งเสริมกิจการของเอสเอ็มอีเหล่านั้นให้เติบโตต่อเนื่อง
ประการสำคัญ รางวัลนี้จะเป็นการสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญในการทำธุรกิจที่ต้องมีหลักสัมมาชีพ มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เกื้อกูลต่อชุมชนควบคู่ไปด้วย ถือเป็นต้นแบบ และแรงบันดาลในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีต่างๆ ต่อไป” นายมานะผล กล่าว
สำหรับบริษัทไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.มหาสารคาม เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายต้นกล้าพันธุ์พืชที่เกิดจากการขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ประดับ ไม้ผลและไม้เศรษฐกิจ โดยสามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเศรษฐกิจได้หลายสายพันธุ์ ทั้งยังคิดค้นนวัตกรรมสารเคมีที่ใช้เพาะเลี้ยงให้ต้นกล้าสมบูรณ์ เติบโต มีการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้ เช่น นำนุ่นมาทดแทนวุ้นในอาหารสังเคราะห์
บริษัทพิมธา จำกัด จ.ปราจีนบุรี ดำเนินกิจการแปรรูปไม้ไผ่เพื่อการตกแต่งและก่อสร้าง โดยใช้นวัตกรรมระบบป้องกันมอดในไม้ไผ่ด้วยการอัดน้ำยาแบบสุญญากาศ หรือ Vacuum เป็นรายแรกและรายเดียวในไทย ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของไม้ไผ่และอายุการใช้งานได้ดี ขณะที่ผลิตภัณฑ์ก็ช่วยสนับสนุนวัตถุดิบจากชุมชน
บริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จ.ราชบุรี เป็นผู้ผลิตเฟรนช์ฟรายส์ที่ทำจากถั่วเขียวร้อยเปอร์เซ็นต์รายแรกและรายเดียวของไทย ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้ชอบเฟรนช์ฟรายส์ ตลอดจนผู้รักสุขภาพ และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทย การใช้วัตถุดิบจากถั่วเขียวมาแปรรูปให้มีมูลค่าสูงขึ้น
บริษัท อัฟนานจิวเวลรี่ จำกัด จ.ยะลา ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีทุกชนิดในสไตล์ศิลปะลังกาสุกะซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นการสืบทอดลวดลายศิลปะแบบโบราณ ทั้งยังมีการพัฒนาคนในท้องถิ่น และดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์มากมาย
บริษัท เทิร์นทูอาร์ต จํากัด จ.นนทบุรี เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สร้างสรรค์งานศิลปะ ผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างจิตสํานึกที่ดีต่อการจัดการขยะผ่านความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงด้านสิ่งแวดล้อมและกระจายรายได้สู่ชุมชน
เอสเอ็มอีทั้ง 5 ราย จะเข้ารับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลๆ ละ 50,000 บาทในงานรางวัลต้นแบบสัมมาชีพซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17 พ.ย. ที่จะถึงนี้ พร้อมโอกาสการพัฒนาการประกอบการร่วมกับภาคีเครือข่ายของมูลนิธิสัมมาชีพต่อไป
สำหรับรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ จะมอบให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีคุณลักษณะตามหลักสัมมาชีพ มีธรรมาภิบาล มีความสามารถทางธุรกิจและธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตควบคู่ไปกับการมีบทบาทส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
งานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2566 จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ณห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.30 น. โดยเป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด“สัมมาชีพ สร้างความมั่นคงฐานราก สร้างความยั่งยืนประเทศ” Stability for Sustainabilityและจะมีพิธีมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ 4 ด้าน ได้แก่ รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ และรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ
นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว ยังจะจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น. เพื่อนำเสนอผลการถอดบทเรียนเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัลต้นแบบสัมมาชีพในปี 2566 ในหัวข้อ “Sammachiv Award ความสำเร็จและบทเรียนที่ควรส่งต่อ” รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี กับองค์กรภาคี