In Bangkok

'จักกพันธุ์'ตรวจงานเขตจตุจักรดูแยกขยะ ย้ายซากรถถนนเทศบาลรังสรรค์ใต้3



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ย้ายซากรถจอดทิ้งถนนเทศบาลรังสรรค์ใต้ 3 เปิด Hawker Center ข้างยูเนี่ยนมอลล์ ส่องสวนชุมชนประชาร่วมใจ 2 คุมเข้มฝุ่นไซต์ก่อสร้างย่านเกษตร ชมคัดแยกขยะราชภัฏจันทรเกษม ลดขั้นตอนทะเบียนบัตร เช็กระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตจตุจักร 

(7 พ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร ประกอบด้วย 

ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยพหลโยธิน 18/1 ถนนเทศบาลรังสรรค์ใต้ซอย 3 เขตจตุจักร ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประกอบกับได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณดังกล่าว จำนวน 2 คัน โดยประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทางด้านคดี พร้อมทั้งตรวจสอบทะเบียนรถในระบบกรมการขนส่งทางบก และปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายซากยานยนต์ออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน จากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย โดยในวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งให้การสนับสนุนรถสไลด์ดำเนินการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ เพื่อนำไปไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม โดยกำหนดจัดเก็บซากยานยนต์ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,357 คัน เจ้าของเคลื่อนย้ายเอง 1,149 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 181 คัน และรอเคลื่อนย้าย 27 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 32 คัน และขายทอดตลาด 119 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ย.66) 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center ห้างยูเนี่ยนมอลล์ ถนนลาดพร้าว ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งบริเวณดังกล่าว สามารถรองรับผู้ค้าได้ 20 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ทางตลาดกำหนด ผู้ค้าส่วนหนึ่งย้ายมาจากซอยลาดพร้าว 1 ที่มีการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณถนนลาดพร้าว เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 110 ราย ได้แก่ 1.ถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 72 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.หน้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 3.ปากซอยพหลโยธิน 24 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. และ 4.ปากซอยรัชดาภิเษก 32 ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด บริเวณตลาดปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักรถึงทางเท้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 

สำรวจสวน 15 นาที พื้นที่ส่วนกลาง ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ พื้นที่ 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ เพื่อเตรียมออกแบบสวน นอกจากนี้เขตฯ มีโครงการจัดทำสวน 15 นาที อีก 2 แห่ง ได้แก่ สวนหย่อมริมคลองประปา พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการประปานครหลวง ที่ว่างริมถนนกำแพงเพชร 6 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย สำหรับสวน 15 นาที เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ So Origin Kaset Interchange โดยบริษัท 7 มกรา พลัส จำกัด (หัวมุมแยกเกษตรฯ ฝั่งนวมินทร์) เป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุด ความสูง 22 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้เก็บเศษปูน เศษหินดินทราย บริเวณด้านหน้าโครงการ และทำความสะอาดพื้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นละออง ส่วนพื้นด้านหน้าถ้ายังไม่เทปูนให้หาแผ่นเหล็กมาวางแทน รวมถึงจัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกเข้าออกทดแทนของเดิมที่รื้อย้ายออกไป ตรวจวัดควันดำรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกโครงการอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทโรงงานที่ใช้ Boiler 3 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 12 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำอู่รถทัวร์ 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พื้นที่ 50 ไร่ ประชากร 3,000 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2556 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ส่งต่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ทุกวันพุธ 2.ขยะรีไซเคิล ยูเทิร์นกรีนยูนิเวิอร์ซิตี้ นักศึกษานำขยะพลาสติกมาแลกผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อกาแฟในมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาและมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมทุกวันศุกร์ 3.ขยะทั่วไป เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ยูไอกรีน นักศึกษานำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแลกผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อกาแฟในมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาและมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมทุกวันศุกร์ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนและหลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 25 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 24.73 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนและหลังคัดแยก 3,767 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 3.35 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนและหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน 

ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตจตุจักร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้เขตฯ พิจารณาลดขั้นตอนการทำงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับการบริการด้วยความรวดเร็ว 

จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 51,599 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 66,045 แห่ง ห้องชุด 70,211 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 187,855 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว โดยได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ เขตจตุจักร มีข้าราชการและบุคลากร 230 คน มีวิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะรีไซเคิล ใส่ถังที่เตรียมไว้ตามโครงการไม่เทรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวันศุกร์ 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะอินทรีย์ ใส่ถังเศษอาหารที่เตรียมไว้ตามโครงการไม่เทรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน 3.ขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายนำขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ใส่ในถังขยะทั่วไป แม่บ้านแต่ละชั้น จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ทั้ง 3 ประเภทรวมกัน ก่อนคัดแยก 68 กิโลกรัม/วัน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 0.40 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน 

ในการนี้มี นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล