In Global
CGTN:จีนให้คำมั่นเปิดกว้างทางการเงิน รองรับเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง
ปักกิ่ง-9 พฤศจิกายน 2566-เมื่อวันพุธที่ผ่านมา บรรดาหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีนได้ให้คำมั่นว่าจะขยายการเปิดกว้างทางการเงินในระดับสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น ในพิธีเปิดการประชุม ไฟแนนเชียล สตรีท ฟอรัม (Financial Street Forum) ประจำปี 2566 ณ กรุงปักกิ่ง
สำหรับการประชุมปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “จีนดีขึ้น โลกดีขึ้น: ยกระดับความร่วมมือและการเปิดกว้างทางการเงิน เพื่อการเติบโตร่วมกันและประโยชน์ร่วมกัน” และจะปิดฉากลงในวันศุกร์นี้
นายหลี่ อวิ๋นเจ๋อ (Li Yunze) ผู้อำนวยการสำนักบริหารการกำกับดูแลการเงินแห่งชาติ (NAFR) กล่าวว่า จีนยังคงเปิดกว้างภาคการเงิน ตลอดจนดึงดูดสถาบันการเงินต่างประเทศและเงินทุนระยะยาวเข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง
นายหลี่กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งของจีนกำลังเข้าสู่ “ยุคทอง” เนื่องจากรายได้ปรับตัวสูงขึ้นและนักลงทุนหันมาสนใจการลงทุนระยะยาวและการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามากขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้ดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อเปิดกว้างภาคการเงิน ซึ่งรวมถึงการยกเลิกเพดานจำกัดการถือครองสินทรัพย์ของชาวต่างชาติในภาคการธนาคารและการประกัน และการลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ 30 แห่งทั่วโลกได้มาเปิดสาขาในประเทศจีน ขณะเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทประกันชั้นนำ 40 แห่งทั่วโลกก็เข้าสู่ตลาดจีนแล้วเช่นกัน
นายหลี่กล่าวว่า จีนจะเร่งนำระบบการจัดการรายการข้อจำกัดและข้อห้าม (Negative List) มาใช้ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้าสู่ตลาดได้ หากไม่ถูกห้ามเป็นการเฉพาะ
นายพาน กงเซิง (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) กล่าวว่า จีนจะรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขยายการเปิดกว้างตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการเงิน
นอกจากนี้ นายพานยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของจีนในการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนโดยอิงตามตลาด รวมถึงการทำให้เงินหยวนของจีนมีความเป็นสากลแบบค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องสม่ำเสมอ
นายอี้ ฮุ่ยหม่าน (Yi Huiman) ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังมีความมั่นคงมากขึ้น และศักยภาพในการพัฒนาก็ได้รับการปลดปล่อยมากขึ้น
เขากล่าวว่า การเงินจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยมุ่งเน้นไปที่ห้าส่วนหลัก ได้แก่ การเงินด้านเทคโนโลยี การเงินสีเขียว การเงินที่ครอบคลุม การเงินบำนาญ และการเงินดิจิทัล
นายอี้ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ และให้คำมั่นว่าจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตลาดทุนมีการพัฒนาอย่างมั่นคงแข็งแรงต่อไป