In Bangkok
คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กทม. หลังนโยบายเปิดสถานบันเทิงถึงตี4
กรุงเทพฯ-คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กทม.กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผล หลังเริ่มนโยบายเปิดสถานบันเทิงถึง ตี 4
(10 พ.ย. 66) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมชั้น 14 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลจากการประชุมคณะอนุกรรมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร รายงานผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปี 2566 รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565-2570 ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และรายงานผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 ปีงบประมาณ พ.ศ.2566
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้เสนอให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา รวบรวมข้อมูล เฝ้าระวังสถานการณ์ ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดสถานบันเทิงจนถึง 04.00 น. รวมไปถึงการเฝ้าระวังในเรื่องยาเสพติด และอุบัติเหตุ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาล นอกจากนี้ขอให้ภาคีเครือข่ายได้เข้มงวดการตรวจสอบสถานบันเทิงให้มากขึ้นด้วย และสำหรับสถานประกอบการเห็นควรกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน โดยจัดให้มีอุปกรณ์เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจสำหรับผู้มาใช้บริการเพื่อตรวจและประเมินตนเองก่อนกลับบ้าน
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก ซึ่งมีสาเหตุจากการเมาแล้วขับร่วมด้วย ตามข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครช่วงเทศกาลสำคัญที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (คปถ.กทม.) พบว่า พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก จำนวน 110 แห่ง และเวลาการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลและวันหยุดต่อเนื่อง อยู่ช่วงเวลา 21.00 - 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ส่วนเวลาการเกิดอุบัติเหตุช่วงนอกเทศกาล อยู่ช่วงเวลา 18.00 - 22.00 น. โดยผู้ประสบเหตุ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก่อน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลและวันหยุดต่อเนื่อง จึงกำหนดให้มีแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
กองบัญชาการตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดังนี้
1.จัดให้มีป้ายคำเตือนให้ระวังเกิดอุบัติเหตุ (ปริมาณและระยะทางในการติดป้ายโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน) ในพื้นที่ที่มีการเกิดเหตุซ้ำซาก โดยติดตั้งก่อนเทศกาลอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือติดตั้งถาวร
2.กำหนดเวลาตั้งจุดตรวจบนถนน ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาและสถานที่ที่เกิดอุบัติบ่อยครั้ง
3.ติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณไฟเตือน หรือวางกรวยบังคับช่องทางจราจร ในบริเวณที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
4.ขอความร่วมมือภาคเอกชน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน ในการบริการจุดพักรถในช่วงกลางคืน พร้อมป้ายประชาสัมพันธ์จุดพักรถ
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักอนามัย ดำเนินการดังนี้
1.รณรงค์ "ง่วง เมา ไม่ขับ" "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"
2.ประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำสำหรับผู้ขับขี่ อาทิ ไม่ควรดื่มสุราหากต้องขับรถ หากดื่มสุราและต้องใช้ยานพาหนะ ควรหาผู้ที่ไม่ดื่มสุราเป็นผู้ขับรถแทนหรือใช้บริการรถสาธารณะ
ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ดำเนินการดังนี้
1.เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและจัดให้มีหน่วยปฏิบัติการที่พร้อมรองรับสถานการณ์ 24 ชั่วโมง
2.จัดให้มีช่องทางที่พร้อมต่อการรับแจ้งเหตุ พร้อมประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเหตุ