In Bangkok
สุ่มวัดฝุ่นจิ๋วรถควันดำแพลนท์ปูนน่ำเฮง ชมคัดแยกขยะโรงเรียนบ้านนายผล
กรุงเทพฯ-สุ่มวัดฝุ่นจิ๋วตรวจรถควันดำแพลนท์ปูนน่ำเฮง ชมคัดแยกขยะโรงเรียนบ้านนายผล ส่องสวนบางบอนสุขใจ ติดตามระบบ BMA-TAX งานทะเบียนบัตร แยกขยะเขตบางบอน
(10 พ.ย. 66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางบอน ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด ถนนบางขุนเทียน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ล้างทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีเศษหินเศษทรายเศษปูนตกค้าง ตรวจวัดควันดำรถโม่ปูน ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีตป้องกันไม่ให้มีเศษปูนและน้ำล้นออกมา หากมีเศษปูนตกตะกอนเป็นจำนวนมากให้นำออกกำจัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน 34 แห่ง แพลนท์ปูน 3 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 8 แห่ง ตรวจวัดควันดำอู่รถสองแถว 2 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนบ้านนายผล (แม้นสุวรรณอุปถัมภ์) ถนนบางบอน 5 ซอย 3 พื้นที่ 4 ไร่ มีครู บุคลากรและนักเรียน 446 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ผู้ปกครองนักเรียนนำไปเป็นอาหารสัตว์ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมตลาดนัดขยะรีไซเคิลทุกวันพุธสิ้นเดือน กิจกรรมประดิษฐ์วัสดุเหลือใช้ ชุดจากขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป ส่งเสริมให้นักเรียนคัดแยกขยะจากห้องเรียน 4.ขยะอันตราย ส่งเขตฯ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,145 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 541 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 187 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 415 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจสวน 15 นาที สวนบางบอนสุขใจ บริเวณหน้าสำนักงานเขตบางบอน เขตฯ ได้พัฒนาเป็นสวนพักผ่อนเชิงเกษตรแบบผสมผสาน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบางบอนสุขใจ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 5 ตารางวา 2.ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา (สวนรักษาศุข) พื้นที่ 4 ไร่ 12 ตารางวา สำหรับสวน 15 นาที ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ ได้แก่ 1.สวนเมืองมณีภิรมย์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา 2.สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 พื้นที่ 1 งาน 68 ตารางวา นอกจากนี้ ยังมีสวนที่เขตฯ เตรียมพัฒนาเป็นสวน 15 นาที ได้แก่ 1.สวนหลังเขต (เสือโต) พื้นที่ 4 ไร่ 17 ตารางวา 2.สวนหย่อมฝั่งขาออกถนนกาญจนาภิเษก (หูช้าง 2) พื้นที่ 1 งาน 45 ตารางวา 3.สวนหย่อมฝั่งขาเข้าถนนเอกชัย (หูช้าง 3) พื้นที่ 1 งาน 34 ตารางวา 4.สวนหย่อมฝั่งขาเข้าถนนกาญจนาภิเษก (หูช้าง 4) พื้นที่ 3 งาน 86 ตารางวา 5.วัดโพธิ์พุฒิตาล พื้นที่ 400 ตารางวา 6.วัดบางบอน พื้นที่ 400 ตารางวา
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 51,280 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 46,584 แห่ง ห้องชุด 4,098 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 101,962 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) จำนวนจดหมายตีกลับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด
จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางบอน โดยได้สอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ พิจารณาปรับลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนกัน จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดให้เพียงพอต่องานบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ได้ติดตามการคัดแยกขยะเขตบางบอน มีข้าราชการและบุคลากร 633 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ถังเหลือง สำหรับทิ้งกระดาษ พลาสติก แก้ว กระป๋อง อลูมิเนียม หรือสิ่งของที่ไม่ใช้งาน สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ 2.ขยะอินทรีย์ ถังเขียว สำหรับทิ้งเศษอาหาร โดยมีตะกร้ารองรับเพื่อกรองขยะเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานในแต่ละวัน 3.ขยะอันตราย ถังส้ม สำหรับทิ้งขยะที่มีสารปนเปื้อน วัตถุอันตราย สารพิษ สารเคมี วัตถุไวไฟ 4.ขยะทั่วไป ถังน้ำเงิน สำหรับทิ้งขยะทั่วไปที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 110 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 90 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 6 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน
ในการนี้มี นายณันทพงศ์ สินมา ผู้อำนวยการเขตบางบอน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางบอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล