In Bangkok
กทม.จับมือGIZในโครงการ CAP SEA ร่วมเดินหน้าลดกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว
กรุงเทพฯ-(10 พ.ย. 66) ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า): พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ (จีไอแซด) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบการทำงานของโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพมหานครมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น โอกาสนี้ คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางทวีพร โชตินุชิต รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ ผู้แทนสำนักการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี
คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีอันยาวนานและประสบผลสำเร็จ ว่า ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เราได้ร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเยอรมันในวาระครบรอบ 160 ปี ภายใต้แนวความคิด “พันธมิตรเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน” โดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานในหลากหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การบริโภคที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนครบวงจร
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจาก GIZ ว่า กรุงเทพมหานครมีประชาชนที่เข้ามาใช้ชีวิต ทั้งอยู่อาศัย เรียน ทำงาน หรือท่องเที่ยว มากกว่า 10 ล้านคนในแต่ละวัน จึงเป็นสาเหตุให้มีปริมาณขยะต่อวันเป็นจำนวนมาก ทาง กทม. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงมีกิจกรรมหลากหลายในการแก้ปัญหาด้านนี้ อาทิ การรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การจัดทำโครงการ “ไม่เทรวม” แยกขยะเปียกออกแล้วนำขยะเปียกเหล่านี้ไปสร้างประโยชน์อย่างอื่น เช่น อาหารสัตว์ มีการรวบรวมอาหารส่วนเกินไปให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ในส่วนของการจัดการปัญหาขยะพลาสติก กทม.ได้มีการเปลี่ยนถุงใส่ยาในโรงพยาบาลจากถุงพลาสติกเป็นถุงกระดาษ เปลี่ยนนมโรงเรียนจากแบบถุงเป็นแบบกล่องกระดาษ ประสานงานกับภาคีเครือข่ายในการรับบริจาคถุงและฟิล์มพลาสติกยืดเพื่อนำกลับมารีไซเคิล (โครงการวน) รับบริจาคขวด PET เพื่อนำมาทำเป็นชุด PPE ในช่วงโควิด และทำชุดสะท้อนแสงให้พนักงานกวาด (โครงการมือวิเศษ กรุงเทพ) เป็นต้น ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติกและขยายต่อยอดการดำเนินการของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และถือเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของเมืองเพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีสำหรับความร่วมมืออันยาวนาน และเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและ GIZ ในการรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม ว่า ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปีในประเทศไทย GIZ มีสถานะที่แข็งแกร่งในประเทศ การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของ GIZ ที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมในระดับเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวทาง นโยบาย โมเดลธุรกิจ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด กรุงเทพมหานครจะได้รับข้อมูลเชิงลึกและเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ข้อมูล ทักษะการปฏิบัติ และประสบการณ์
สำหรับโครงการ CAP SEA (แคป ซี) มีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยโครงการฯ ได้สนับสนุนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนปฏิบัติการ และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัป เพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ สำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเน้นไปที่การรับมือกับมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะพลาสติก ผ่านการแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570)
ในส่วนของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กทม. และ GIZ จะร่วมดำเนินงานใน 4 แนวทางต่อไปนี้
1. การพัฒนาแนวปฏิบัติในการลดและป้องกันพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในระดับเมือง ตามหลักการการเรียกเก็บค่ามัดจำจากผู้ซื้อ และจะคืนเงินเมื่อนำผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์นั้นมาคืน ณ จุดที่กำหนด (Deposit Return Scheme - DRS) โดยจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในงานอีเวนต์หรืองานเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดในกรุงเทพมหานคร
2. การศึกษาประเด็นการเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม (Preconditions) สำหรับการจัดตั้งระบบ DRS ในระดับเมือง โดยเฉพาะการคืนขวด PET ผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ
3. การพัฒนาข้อเสนอแนะสำหรับการใช้และบำรุงรักษาระบบเติมน้ำดื่มสาธารณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในด้านสุขอนามัย
4. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดและป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
โดยความสำเร็จของการดำเนินงานจะถูกวัดและประเมินผลผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกของโครงการฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในไทยและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ CAP SEA (แคป ซี) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก “Export Initiative Environmental Protection” ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเทศพันธมิตร และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โดยจะสานต่อความพยายามในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว มุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในระดับเมือง โดยโครงการฯ จะดำเนินการจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ทาง https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/the-collaborative-action-for-single-use-plastic-prevention-in-southeast-asia-cap-sea/ และบนแพลตฟอร์ม Greentech Knowledge Hub ของ Export Initiative Environmental Protection คลิก https://greentechknowledgehub.de
ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ได้ตอบคำถามในเรื่องของการต่อยอดงานของกรุงเทพมหานครด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถือเป็นเรื่องใหญ่ ความร่วมมือของ กทม. และ GIZ ในครั้งนี้จึงจะเน้นในเรื่องของการนำแนวปฏิบัติต่าง ๆ ไปใช้ในทุก ๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ เทศกาลลอยกระทงที่มีการรณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติ และเน้นในเรื่องของการศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ สร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเตรียมแนวทางที่จะพัฒนาต่อยอดกับสิ่งที่เรามีอยู่ รวมไปถึงเน้นในเรื่องของการสร้างความเข้าใจตั้งแต่ในระดับเด็กนักเรียน เพื่อหล่อหลอมให้เกิดความสนใจ การให้ความสำคัญ และการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหาก กทม. ได้ทำและทำได้ดี คาดว่าจะขยายผลไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ หรือทั่วประเทศได้ในอนาคต
คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ว่า ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการจัดการขยะพลาสติก ทาง GIZ ไม่สามารถทำเพียงหน่วยงานเดียวได้ แต่จะต้องมีการทำงานร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือกับทาง กทม. นี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำนั้นนำไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผล โดยหากในเมืองหลวงสามารถทำได้ หน่วยงานต่าง ๆ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้เช่นกัน นอกจากนี้ การที่ปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็กให้มีความตระหนักรู้ จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต และจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศ และโลกของเราด้วย
สุดท้ายนี้ คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค ได้กล่าวถึงการขยายผลความร่วมมือ ว่า ทางรัฐบาลเยอรมนีพร้อมรับฟังเสียงจากกรุงเทพมหานคร ตลอดจนประเทศไทยและประเทศที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อนำมาซึ่งความยั่งยืนในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยหากต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด เรามีเจ้าหน้าที่ มีที่ปรึกษา และมีผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ และหากความต้องการเหล่านั้นสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของทางเรา เราจะพยายามหางบประมาณมาสนับสนุนการทำงานร่วมกันต่อไป