In News
'สันติ'ชูพืชสมุนไพรกินเป็นยาสร้างรายได้ ให้ชุมชนกระตุ้นท่องเที่ยวบูมศก.ยั่งยืน
กรุงเทพฯ-“เกณิกา” เผย รัฐบาลโดย รมช.สันติ ชูพืชสมุนไพรกินเป็นยา มุ่งสร้างรายได้ให้ชุมชนกระตุ้นท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนตามนโยบายรัฐ
วันนี้ (11 พ.ย.66) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด "อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชนจำนวนมาก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจด้านอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการท่องเที่ยวจากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในด้านอาหาร มีสัดส่วนถึง 20 % ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเนื่องจากอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสามารถสอดแทรกอยู่ในทุก ๆ การท่องเที่ยว และทุกช่วงเวลา อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศหลายรายการจนเกิดเป็นรายการอาหารประจำชาติที่นักท่องเที่ยวรู้จักอย่างแพร่หลาย
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดรายการอาหาร ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไว้ รวมถึงเครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ได้
นอกจากนี้คุณค่าอาหารไทย สมุนไพรไทย ยังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้วิธีการทำอาหารไทย ที่สอดแทรกด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สามารถให้คำแนะนำผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้ เช่น ปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ท้องผูก ช่วยสร้างมูลค่าและคุณค่าของอาหารไทย เป็นการผสม "ศาสตร์" ความชำนาญการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ "ศิลป์" ความพิถีพิถันความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหารไทยได้เป็นอย่างดี และยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวหันมาสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากยิ่งขึ้น
น.ส.เกณิกา กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีรวมถึงได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่มและโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพและเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดภัย ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยมีพืชที่เป็นสมุนไพรและนำมาใช้รักษาโรคกันเป็นนับร้อยปี เรามีสมุนไพรมากมายทั่วทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจที่จะพัฒนาพืชสมุนไพรให้เป็นที่รู้จักและไม่รู้จัก ได้วิจัยและประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ถึงประโยชน์และสรรพคุณต่างๆ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสมุนไพรเพื่อพี่น้องประชาชนได้ทานเป็นสมุนไพรเป็นยา จึงมีนโยบายวิจัยพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ว่ามีสรรพคุณอย่างอย่างไร เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับประชาชนได้รับทราบ น.ส. เกณิกา กล่าว