In News
Fitchคงอันดับน่าเชื่อถือไทยไว้ที่BBB+ คาดศก.ไทยปีนี้โต2.8%และ3.8%ในปี67
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย Fitch คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่ BBB+ มุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องจากร้อยละ 2.8 ในปีนี้ เป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2567
วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า บริษัท Fitch Rating (Fitch) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ พร้อมคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า Fitch คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างมั่นคง และภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
โดย Fitch คาดว่าไทยจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากร้อยละ 2.8 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2567 รวมทั้ง การใช้จ่ายทางการคลังขนาดใหญ่ (Large Fiscal Spending) จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศทำให้การดำเนินนโยบายชัดเจนขึ้น พร้อมกันนี้ Fitch คาดว่า รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ของ GDP ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน และในส่วนของ ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเงินโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดย Fitch คาดว่า ปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 1.0 ของ GDP จากที่ขาดดุลร้อยละ 3.2 ในปี 2565 อีกทั้ง ปี 2566 คาดว่าระดับทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงมากที่ 7.1 เดือนซึ่งสูงกว่า BBB Median ที่ 5 เดือน ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ Fitch จะติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ ความสามารถในการบริหารจัดการสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) ให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพและสร้างการเติบโตในระยะปานกลาง ตลอดจนประสิทธิผลของนโยบายทางเศรษฐกิจ
“ขอให้มั่นใจว่าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะสร้างการพลิกฟื้นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งการจัดอันดับของ Fitch ทำให้เห็นว่า ในช่วงเวลาการรับหน้าที่ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัว มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ มาตรการพักหนี้เกษตรกร ประกอบกับมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ได้ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่านายกรัฐมนตรียังได้วางมาตรการกำหนดเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ความมั่นใจกับประชาชนในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น” นายชัย กล่าว
ด้านนางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566) บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ณ ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) Fitch คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.8 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.8 ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างมั่นคงและภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความต้องการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ได้ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การใช้จ่ายทางการคลังขนาดใหญ่ (Large Fiscal Spending) จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศ อีกทั้งความสำเร็จในการก่อตั้งรัฐบาลทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะสั้นลดลง ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลยังจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินนโยบายและกรอบวินัยทางการคลังให้มากขึ้น ซึ่ง Fitch เชื่อว่าอันดับคะแนนภายใต้ Worldwide Governance Indicators (WGI) ของประเทศไทยจะดีขึ้น เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภัยแล้ง และความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) Fitch คาดว่า รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ของ GDP ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Median = ร้อยละ 2.9) แต่จะเริ่มลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2568 (BBB Median = ร้อยละ 2.6) โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและสังคมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ Fitch คาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (General Government to GDP) ปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 56.8 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers) ที่ร้อยละ 56.3 และในระยะปานกลาง ในปี 2570 คาดว่าระดับดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 57.5 อีกทั้ง เชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถระดมทุนภายในประเทศได้ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สาธารณะมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างยาวและส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินจากการเพิ่มขึ้นของ General Government to GDP ได้
3) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเงินโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดย Fitch คาดว่า ปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 1.0 ของ GDP จากที่ขาดดุลร้อยละ 3.2 ในปี 2565 อีกทั้ง ปี 2566 คาดว่าระดับทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงมากที่ 7.1 เดือนซึ่งสูงกว่า BBB Median ที่ 5 เดือน
4) ปัจจัยสำคัญที่ Fitch จะติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ ความสามารถในการบริหารจัดการ General Government Debt to GDP ให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพและสร้างการเติบโตในระยะปานกลาง ตลอดจนประสิทธิผลของนโยบายทางเศรษฐกิจ