In Global
ประชุม'ไฟแนนเชียล สตรีท ฟอรัม'จีนมุ่ง ยกระดับความร่วมมือและการเปิดกว้าง
ปักกิ่ง-13 พฤศจิกายน 2566 การประชุมไฟแนนเชียล สตรีท ฟอรัม (Financial Street Forum) ประจำปี 2566 ได้จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน ระหว่างวันพุธถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยทำหน้าที่เป็นเวทีระดับชาติสำหรับการเผยแพร่นโยบายทางการเงินที่เชื่อถือได้ และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแวดวงการเงินกับเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับการปฏิรูปและการพัฒนาทางการเงินของจีน ตลอดจนส่งเสริมการเปิดกว้าง ความร่วมมือ และผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายในเวทีระดับโลก
แขกผู้มีเกียรติกว่า 400 ราย จากกว่า 30 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ต่างมาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ตลอดจนสำรวจโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและแนวทางในการเอาชนะความท้าทายทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงแนวทางที่ภาคการเงินสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น
งานนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “จีนดีขึ้น โลกดีขึ้น ยกระดับความร่วมมือและการเปิดกว้างทางการเงิน เพื่อการเติบโตร่วมกันและประโยชน์ร่วมกัน” โดยประกอบด้วย 1 การประชุมหลัก, 3 การประชุมคู่ขนาน และ 22 การประชุมย่อย ซึ่งร่วมกันจัดโดยรัฐบาลประชาชนของเทศบาลกรุงปักกิ่ง ธนาคารกลางจีน สำนักบริหารการกำกับดูแลการเงินแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐ และสำนักข่าวซินหัว
การประชุมหลัก 5 หัวข้อมุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการเจรจานโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลก โดยผู้บริหารหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบาย ผู้อำนวยการหน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตรา และซีอีโอของบริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียง ต่างได้รับเชิญให้มาร่วมอภิปรายเชิงลึกในงานนี้
นายอิน หลี่ (Yin Li) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเทศบาลกรุงปักกิ่ง กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า ตลาดการเงินของจีนมีขนาดใหญ่ มีศักยภาพเต็มเปี่ยม มีการพัฒนาที่รวดเร็ว และเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของโลก
เขากล่าวเสริมว่า ในฐานะศูนย์กลางการจัดการทางการเงินของประเทศ กรุงปักกิ่งมีทรัพยากรทางการเงินมากมาย มีสถาบันการเงินกระจุกตัว มีบุคลากรทางการเงินมากความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแนวหน้าในการสำรวจและดำเนินการปฏิรูปทางการเงินด้วย
นายพาน กงเซิง (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน และหัวหน้าสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐ กล่าวว่า นโยบายการเงินจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปรับตัวแบบข้ามวงจรและสวนทางกับวงจรเศรษฐกิจ การรักษาสภาพคล่องอย่างเหมาะสมและเพียงพอ การรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง รวมถึงการยกระดับการสนับสนุนกลยุทธ์หลัก การส่งเสริมวาระสำคัญ และการแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ตลาดจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่สมดุลและเหมาะสม