Biz news

เปิดวิสาหกิจฯHAND-IN-HANDRUSO 'สร้างเศรษฐกิจ'แก้ปัญหาพื้นที่สีแดง



กรุงเทพฯ-วิสาหกิจฯ HAND-IN-HANDRUSO นับเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ใช้ “ใจ” ในการขับเคลื่อนโดยแท้เพราะกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มต้นจากโครงการของภาครัฐ อุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบส่งผลให้เอกชนที่เข้ามาสนับสนุนถอนตัว

ทว่า ชุมชนไม่ถอดใจ สานต่อกิจการจนประสบความสำเร็จทั้งด้านเศรษฐกิจ และนำความสงบสู่พื้นที่อีกครั้ง

ชาวบ้านที่รือเสาะตกลงใจเดินหน้ากิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่อ โดยนำทุน เครื่องจักร และทรัพยากรที่หน่วยงานต่างๆสนับสนุนไว้มารวมตัวกันในรูปแบบ “วิสาหกิจชุมชน” จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HANDRUSOจ.นราธิวาส ขึ้นเมื่อปี 2554

กระทั่งขณะนี้ กิจการสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละกว่า 24 ล้านบาท และสามารถสร้างความสงบในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สีแดง

วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ จึงถือเป็น “แบบอย่างความสำเร็จ” ของชุมชนที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนนำมาสู่ความสำเร็จ กระทั่งได้รับ “รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ” ประเภทการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ที่มอบโดยมูลนิธิสัมมาชีพเนื่องจากมีการบริหารจัดการกิจการที่ดี มีส่วนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“ต้องขอบคุณมูลนิธิสัมมาชีพที่ให้โอกาสพิจารณาวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HANDRUSOจ.นราธิวาส ได้รับรางวัลนี้ รู้สึกซาบซึ้งใจดีใจเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นขวัญกำลังใจและพลังให้กับบุคลากรและทีมงานในการดำเนินงานเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” นูรี เดวาดาแล ประธานวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HANDRUSOจ.นราธิวาส เผย

นูรีเล่าถึงช่วงแรกเริ่มว่า เดิมวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ตัดเย็บเฉพาะชุดนักเรียน แต่ประสบกับปัญหาทางการตลาด เพราะชุดนักเรียนมีกลุ่มลูกค้าจำกัด และจำหน่ายได้ในช่วงสั้นๆก่อนเปิดภาคเรียนเท่านั้น ทำให้บุคลากรไม่มีงานทำต้องทยอยลาออก

กระทั่งมีผู้แนะนำให้ลองนำผ้าคุณภาพดีจากต่างประเทศมาตัดเย็บและเปลี่ยนมาตัดเย็บชุดกีฬา ชุดออกกำลังกาย เสื้อคอกลม เสื้อคอปก เป็นต้น กิจการเย็บผ้าจึงเติบโตต่อเนื่อง

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯมีโรงงานเย็บผ้า 1 โรง สามารถตัดเย็บได้ทั้ง ชุดกีฬาประเภทต่างๆ เสื้อคอปกคอกลม คอวี กางเกงวอร์ม เสื้อแจ๊คเก็ต ชุดพละ ผ้าคลุมผม กระเป๋าผ้าเป็นต้น

และในอนาคต “นูรี” บอกว่าวิสาหกิจชุมชนฯกำลังเตรียมแผนงานที่จะไปจัดไลน์การผลิตในเรือนจำนราธิวาสเพื่อช่วยสร้างงานให้กับผู้ต้องขังหญิง ในโครงการสร้างงานสร้างสุขให้คนหลังกำแพงเรือนจำนราธิวาส

สำหรับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานองค์กรภาครัฐเอกชน ประชาชนทั่วไป ขณะที่การออกแบบและพิมพ์ลวดลายผ้า ได้นำ “ของดีพื้นถิ่น” มาถ่ายทอด เช่น นกเงือก เรือกอและใบไม้สีทอง ว่าว ต้นไม้ ดอกไม้ต่างๆ รวมถึงนำ “ผ้าปาเต๊ะ” หรือผ้าทอในพื้นที่ มาผสมผสานลงในผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความสวยงามโดดเด่นสร้างอัตลักษณ์ในพื้นที่ งานตัดเย็บยังเน้นการรักษาคุณภาพจำหน่ายในราคาที่จับต้องได้

ไม่เพียงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เท่านั้น ที่ผ่านมา “นูรี” เล่าว่า ยังประสานเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน เช่น การมอบเศษผ้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับวิสาหกิจชุมชนวัดราษฎร์สโมสร เพื่อนำไปจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าเช่น หมวก กระเป๋า พรมเช็ดเท้า การนำผ้าทอ ผ้าปาเต๊ะจากกลุ่มศิลปาชีพหรือโครงการพระราชดำริต่างๆ มาออกแบบและตัดเย็บเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น

ประธานวิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HANDRUSOประเมินว่า สิ่งที่วิสาหกิจชุมชนฯดำเนินการมาทั้งหมด มีส่วนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ อีกด้วย

ปัจจุบัน วิสาหกิจฯ มีการจ้างงานให้กับสมาชิกเกือบ 300 คน โดยทำงานภายในโรงงาน150 คน และรับงานไปทำงานตามครัวเรือนอีกประมาณ 150 คน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำ สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนฯ ยังเป็น “แหล่งเรียนรู้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ”เนื่องจากในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง มีสถานศึกษาที่จัดหลักสูตรเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนฯจึงมีการส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน "เศรษฐกิจชุมชนดำเนินการด้วยชุมชน" เป็นต้นแบบให้กับกลุ่มอื่นๆ ได้เรียนรู้และนำไปสร้างความเข้มแข็ง

ด้านกิจกรรมเพื่อสังคมก็มีมากมาย เช่น จัดผลิตเสื้อราคาถูกพิเศษเพื่อกิจกรรมโรงพยาบาล  โรงเรียน ตาดีกา มัสยิดหรือองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กรการกุศลเหล่านี้

“ในอดีตพื้นที่วิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HANDRUSOเป็นพื้นที่สีแดงมีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ลอบยิงผู้ที่ใช้เส้นทางแต่เมื่อมีการดำเนินงานของวิสาหกิจฯ และนำคนในพื้นที่มาทำงานในฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย งานด้านตัดเย็บและยังมีกิจการอื่นๆ เช่น ร้านขายอาหาร ตลาดนัดชุมชน เมื่อชุมชนมีอาชีพมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความสงบในพื้นที่ก็เกิดขึ้น” นูรี กล่าว

นี่คือการทำงานอย่างบูรณาการของ วิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HANDRUSOซึ่งไม่เพียงส่งประโยชน์ต่อสมาชิก แต่ยังขยายทั่วถึงทั้งชุมชน

ความสุข ความสามัคคี ความร่มเย็นใจ ในพื้นที่ที่เคยไม่สงบ จึงสงบลงได้ด้วยเหตุนี้