In News
มท.ร่-ทส.เป็นประธานพิธีลงนามเอ็มโอยู ผนึกกำลังจัดการขยะรักษ์สิ่งแวดล้อม
กรุงเทพฯ-รอง นรม.และรมว.ทส. และรอง นรม.และรมว.มท. เป็นประธานพิธีลงนาม MOU ทส.-มท. ผนึกกำลังจัดการขยะอาหาร เพื่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก
วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2566) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ร่วมเป็นสักขีพยาน มีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับชมวีดิทัศน์การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก จากนั้นได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก
โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เป็น “วาระเร่งด่วน” ในปี 2564 ทส. ดำเนินการสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 (9.68 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศจำนวน 24.98 ล้านตัน โดยนำมาคำนวณเป็นปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ณ ครัวเรือน และจากการสำรวจ พบว่า องค์ประกอบของขยะอาหารมีส่วนที่รับประทานได้ (Edible) ร้อยละ 39 และส่วนที่รับประทานไม่ได้ (Inedible) ร้อยละ 61 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศมีประสิทธิภาพจึงจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (ปี 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2566 – 2570) เป็นกรอบการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศ ตั้งเป้าหมายจะลดสัดส่วนของขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนจากร้อยละ 39 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 28 ภายในปี 2570 โดยมีมาตรการครอบคลุมตั้งแต่การลด หรือทิ้งให้น้อยลง ตั้งแต่การจำหน่าย การประกอบอาหาร การบริโภค โดยมุ่งให้เกิดการคัดแยกขยะอาหารจากต้นทาง และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ ผลิตพลังงานชีวภาพ ทำให้ลดการตกค้างของขยะที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ลดมลพิษจากขยะ ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากขยะอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และให้เหลือขยะนำไปกำจัดให้น้อยที่สุด ซึ่งในปี 2565 มท. ส่งเสริมการจัดการขยะอาหาร โดยใช้ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยสมัครใจ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อย ก๊าซได้มากกว่า 1,870,000 กว่าตัน
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยเฉพาะขยะอาหารทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท รวมถึงพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหารต่อไป