Travel Sport & Soft Power
สงกรานต์วิถีภูไทเลี้ยงวิญญาณบรรพบุรุษ
กาฬสินธุ์-ชาวภูไทอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมสืบสานประเพณี “เหยา” เลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์ อดีตเจ้าเมืองและวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างความรัก ความสามัคคี ในเทศกาลสงกรานต์และวันครอบครัว มีการละเล่นสาดน้ำเฉพาะกลุ่มของคณะหมอเหยาเพื่อพยากรณ์ฝนฟ้า ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข อสม.ตั้งจุดคัดกรอง ป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ที่บริเวณหอทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) เชิงสะพานลำพะยัง ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายคงคา ชื่นจิต นายอำเภอเขาวง เป็นประธานพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา (ด้วง) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 2 และพระธิเบศร์วงศา (กินรี) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 3 โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นายนพรัตน์ สายสมบัติ พัฒนาการอำเภอเขาวง นายปุณณรัตน์ วรรณวงศ์ ครูโรงเรียนกุดกว้างสวาสดิ์วิทยา พร้อมด้วยผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี เยาวชน แต่งกายด้วยชุดภูไท ซึ่งเป็นชุดแต่งกายพื้นเมือง ตั้งขบวนฟ้อนรำบวงสรวง ด้วยลีลาอ่อนช้อยสวยงาม สื่อถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ภูไท
นายคงคา ชื่นจิต นายอำเภอเขาวง กล่าวว่า พิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา (ด้วง) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 2 และพระธิเบศร์วงศา (กินรี) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 3 ดังกล่าว เพื่อน้อมรำลึกและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีในเทศกาลสงกรานต์ ที่เริ่มจากวันที่ 13 เม.ย.วันสงกรานต์ วันที่ 14 เม.ย.วันครอบครัว และวันที่ 15 เม.ย.วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย นอกจากนี้ยังมีการสาธิตพิธี “เหยา” หรือการรักษาคนป่วยตามความเชื่อของชาวผู้ไท ที่สืบทอดจากมายาวนานหลายชั่วอายุ เพื่อให้ลูกหลาน เยาวชน ที่กลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ ได้ร่วมสืบสาน แสดงความกตัญญูกตเวที เสริมสร้างความรัก ความอบอุ่น ในครอบครัวและในชุมชน โดยทุกคนที่ร่วมพิธีปฏิบัติตนตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย ตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
ด้านนายปุณณรัตน์ วรรณวงศ์ ครูโรงเรียนกุดกว้างสวาสดิ์วิทยา อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พิธีเหยาเป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อของชาวภูไท ซึ่งเป็นพิธีสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วย ที่ชาวภูไทอนุรักษ์และสืบสานมาอย่างเหนียวแน่น โดยหมอเหยาหรือผู้นำในการประกอบพิธีมีทั้งชายและหญิง หากเป็นชายจะเรียกว่าพ่อเมือง หรือหากเป็นหญิงเรียกว่าแม่เมือง ซึ่งพิธีบวงสรวงและเลี้ยงทะหลาในเทศกาลสงกรานต์หรือในวันครอบครัวนี้ มีการจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ พานบายศรี ข้าวสาร ไข่ไก่ ข้าวต้มมัด กล้วยสุก เหล้าขาว ยาสูบ พร้อมด้วยคณะหมอเหยา ทำการร่ายรำตามจังหวะดนตรีพื้นเมือง เป็นการบำรุงขวัญกำลังใจให้คนป่วยไข้หายเป็นปกติ ถือเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องของภูตผี วิญญาณ บรรพบุรุษ ยึดมั่นในความกตัญญู ที่สืบสานกันมาแบบรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่เสื่อมคลาย
ทั้งนี้ พิธีเหยาเกิดจากเคยมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวมาก่อน รักษาตามกรรมวิธีทางการแพทย์ไม่หาย จึงหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งชุมชนชาวผู้ไทเชื่อว่าสถิตอยู่ ณ หอทะหลา หรือมเหศักดิ์หลักเมือง ชาวผู้ไทแต่ละเผ่าจะมีกรรมวิธีเหยาที่คล้ายคลึงกัน แต่มีจุดหมายเดียวกันคือบอกกล่าว ขอขมา และร่ายรำช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย พิธีเหยาจึงเป็นการติดต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเป็นการทำนายหรือดูลางบอกเหตุในบางกรณีได้ เช่น พยากรณ์อากาศ ทำนายโชคชะตา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการประกอบพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา พร้อมร่วมพิธีเหลา เพื่อแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี และปลูกจิตสำนึกลูกหลาน ที่มาเยี่ยมบ้านและก่อนเดินทางกลับไปทำงานหลังสงกรานต์ ได้รักบ้านเกิด ได้ร่วมกันขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลในเทศกาลสงกรานต์ด้วยความสุข และเดินทางปลอดภัย ทั้งนี้ หลังสาธิตพิธีเหยาในวันครอบครัว ยังมีการทำนายฝนฟ้า โดยแม่เมืองเป็นผู้นำคณะหมอเหยา ร่ายรำรอบโอ่งบรรจุน้ำหน้าปะรำพิธี และร่วมเล่นสาดน้ำคลายร้อนอย่างชุ่มฉ่ำ ซึ่งพยากรณ์ว่าฝนฟ้าปีนี้จะดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล
ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์