In News

ภารกิจนายกฯในเอเปคจับเข่าคุยต่อเนื่อง ล่าสุดรมต.พาณิชย์สหรัฐและยูเอสเอเปค



​นายกฯ หารือรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ในฐานะหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้นายกฯ ย้ำ 3 แนวทางในเวทีผู้นำเอเปค ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยงเชื่อมั่นจะเป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข และนายกฯ พบหารือกับ U.S. APEC Business Coalition ตอกย้ำการทำงานของรัฐบาลเพื่อพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมมอสโกนี นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ นครซานฟรานซิสโก นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีฯ สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของสหรัฐฯ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องนโยบายและพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และสนใจส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ (reliable partner) ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ย้ำความพร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป 

นายกฯย้ำ3แนวทางในเวทีผู้นำเอเปค

 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) ในหัวข้อ “Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies” พร้อมร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 โดยก่อนการกล่าวถ้อยแถลงของ นายกฯ (ลำดับที่ 18 ต่อจากจีนไทเป ก่อน ปธน. เวียดนาม) นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023 สรุปสาระสำคัญดังนี้

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และสงบสุข โดยวานนี้ ได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายกฯ เห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกฯ ได้เสนอ 3 มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค

1. ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมากในปีนี้ จากโครงการมากกว่า 280 โครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ในขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge รวมถึงการจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

2. เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมี WTO เป็นแกนกลางนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (the Thirteenth Ministerial Conference (MC13))

ซึ่ง ไทย ผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และ ไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นๆ ในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 

3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดย ไทยกำลังเดินหน้าโครงการ Landbridge เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพอีกด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป  

นายกฯ พบหารือกับ U.S. APEC Business Coalition

นายเศรษฐา  ได้พบหารือกับ U.S. APEC Business Coalition ซึ่งประกอบด้วย National Center for APEC (NCAPEC) สภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC)เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกฯ ย้ำความเป็นกว้างของรัฐบาลไทยด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าที่จะทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับอนาคตให้เจริญเติบโตท่ามกลาง “วิกฤตหลายด้าน” ของเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาในเส้นทางการพัฒนาด้วยมาตรการ "quick-win" รวมถึงการลดค่าครองชีพ การสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ และการขยายการลงทุนและธุรกิจ

ไทยมุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้านการพาณิชย์และโลจิสติกส์ โดยเน้นมาตรการระยะกลางและระยะยาว ทั้งการเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ เร่งการเจรจา FTA เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาค

การจัดลำดับความสำคัญของความเชื่อมโยงผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโครงการ “Landbridge” เชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งจะเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก โดยนายกฯ กล่าวเชิญชวนและยินดีต้อนรับการลงทุนของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสาร Satellite 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันที่จังหวัดภูเก็ตและท่าอากาศยานล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่ และแผนการปรับปรุงท่าอากาศยานอื่นๆ ของไทย เพื่อรองรับความเชื่อมโยงภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การก้าวเป็น hub คมนาคมขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึง soft power ท้องถิ่นของจังหวัดต่างๆ ด้วย

นายกฯ ยังได้ย้ำว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จึงหวังว่า U.S. APEC Business Coalition จะสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมถึง APEC ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในด้านที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน เช่น ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พลังงานสะอาด และอื่นๆ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “ตอนนี้เป็นเวลาที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย” โดยไทยกำลังดำเนินการด้านกฎระเบียบที่ครอบคลุม การแปลงบริการภาครัฐเป็นดิจิทัล และกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับมาตรการส่งเสริม

พร้อมกันนี้ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการหารือ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วย