In Thailand

ปศุสัตว์ลพบุรีรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงรอบ1ปี67



ลพบุรี-สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรีรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (Kick-off) ‘’ 

เมื่อวันที่   18 พ.ย.66  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี โดยนายสัตวแพทย์  จรูญ ชูเกียรติวัฒนา  ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี มอบหมายให้กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ และด่านกักกันสัตว์ลพบุรี  ทำการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง รอบ 1ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (Kick-off)      

โดยพบว่าในช่วงปลายฝน ต้นหนาว มักจะเกิดโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย เป็นต้น จึงจำเป็นต้องรณรงค์ฉีดวัคซีนฯตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อป้องกันความเสียหายของผู้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการให้สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทั้ง11อำเภอของจังหวัดลพบุรีได้ทำการฉีดวัคซีนฯให้แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกร ในช่วงระยะเวลาการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะเน้นการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในโคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ และจัดทำประวัติการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดนัดค้าสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ คอกกักสัตว์ รถบรรทุกสัตว์ และสหกรณ์หรือศูนย์รวมนม เป็นต้น อีกทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สำคัญอย่างยิ่งในโค กระบือ แพะและแกะ เพราะสามารถติดต่อระหว่างสัตว์ดังกล่าวได้ง่าย และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยโรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตายแต่สัตว์จะสุขภาพทรุดโทรม ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะปริมาณน้ำนมลดลงในโคนม ส่วนโรคเฮโมรายิกเซปพิซีเมียเป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ ทำให้กระบือป่วยและตายอย่างเฉียบพลันได้ ซึ่งทั้งสองโรคนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และทั้งสองโรคดังกล่าวไม่เป็นโรคสัตว์ติดต่อคน

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ให้ดูแลสัตว์สัตว์เลี้ยงของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ ถังนม อาหาร รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ

หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)/เทศบาลและปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเหตุโรคระบาดสัตว์ได้ที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี

ทวีศักดิ์/ลพบุรี