In Bangkok
กทม.ชวนจูง(มือ)ลูกพาหลานเที่ยวงาน Let's Play ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
กรุงเทพฯ-ความสุขของเราคืออะไร? มีเงินมากมาย มีรถหรูหรา มีตำแหน่งใหญ่โต หรืออาจจะง่าย ๆ แค่เห็นรอยยิ้มของคนที่เรารักกันนะ... เชื่อว่าแต่ละคนคงมีนิยามความสุขที่แตกต่างกันออกไป แต่วันนี้ ถ้าใครได้มางาน Let's Play Festival เทศกาลเล่นอิสระ ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน ก็คงจะได้เห็นบรรยากาศที่มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนมาร่วมงานทุกเพศทุกวัย แล้วแบบนี้เราจะเรียกว่าความสุขได้ไหมนะ
"ต้องบอกว่างาน Let's Play Festival เทศกาลเล่นอิสระ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เราจะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครต้องการพื้นที่เล่นอิสระแบบนี้ เพื่อให้เด็กเล็กได้มีพัฒนาการสมวัยและมีความสุข วันนี้บรรยากาศเพอร์เฟ็กต์ทุกอย่าง อากาศก็ดี กิจกรรมก็ดีมาก ควรมีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ และมีสถานที่ที่ถาวรมากกว่านี้ ต้องขอบคุณทางเครือข่ายมาก ๆ ที่จัดงานขึ้น นี่คือพลังของเครือข่ายอย่างแท้จริง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะหาพื้นที่สวนสาธารณะที่เหมาะจะทำพื้นที่เล่นอิสระเพื่อพัฒนาในเรื่องของเด็กเล็กต่อไป" นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Let's Play Festival เทศกาลเล่นอิสระ วันนี้ (18 พ.ย. 66)
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวภายหลังเปิดงานว่า เรื่องปฐมวัย เรื่องเด็ก เรื่องครอบครัว เรื่องการศึกษา เป็นเรื่องที่นโยบายของกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ เวลาพูดถึงกรุงเทพมหานคร คนชอบคิดถึงเพียงเรื่องโยธาหรือระบายน้ำ แต่ยังมีหัวใจหลักอีก 2 เรื่อง ที่เป็นเรื่องหลักของความเหลื่อมล้ำ คือ เรื่องการศึกษา และสาธารณสุข
"จากการทำงานร่วมกับทางเครือข่าย กรุงเทพมหานครจึงได้พัฒนาให้ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน เป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็ก โดยได้มีนโยบาย After School และ Saturday School เปิดพื้นที่การเรียนรู้และเล่นให้แก่เด็กนอกเวลาเรียน ส่วนกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ สสส. เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิพัฒนาเด็ก และหน่วยงานภาคีต่าง ๆ จัดขึ้นเพื่อนำร่อง โดยกรุงเทพมหานครมีแนวคิดที่จะต่อยอดในการทำให้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่เล่นอิสระแบบนี้มากขึ้น ทั้งสนามเด็กเล่น ลานกีฬา และสวนสาธารณะ โดยในเบื้องต้นคิดว่าที่สวนเบญจกิติซึ่งปัจจุบันมีสนามเด็กเล่นใกล้บริเวณศูนย์กีฬาก็น่าจะพัฒนาเป็นพื้นที่เล่นอิสระได้" รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
สำหรับงาน Let's Play Festival เทศกาลเล่นอิสระ จัดขึ้นโดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00-20.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน เพื่อต้องการสื่อสารให้สังคมมีความตระหนักในเรื่องการเล่นอิสระ ให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงพื้นที่เล่น และเพื่อจุดประกายให้ครอบครัวและหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอิสระทุกวัน ภายใต้สโลแกน “30 นาที เล่นอิสระทุกวัน สร้างพลังสุข” รวมทั้งปลูกฝังให้ทุกคนมีความเป็น Play Worker (ผู้ดูแลการเล่น) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเล่นของเด็ก ๆ สร้างโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างมีความสุข สนุกสนาน ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยและปลอดภัยให้แก่เด็ก โดยไม่ตำหนิ ห้าม สั่ง หรือชี้นำ
โดยกิจกรรมในงานทั้ง 3 วัน ประกอบด้วย
• เพลินเล่น พบกับลานเล่นอิสระมุมต่าง ๆ เช่น เล่นผจญภัย เล่นป่ายปีน เล่นในบ้าน เล่นในสวน เล่นกับธรรมชาติ
• เพลินรู้ กับกิจกรรม workshop สำหรับเด็ก ในการทำของเล่น สำหรับครอบครัว พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ในเรื่องของพัฒนาการบนฐานความผูกพัน และสำหรับคุณครูผู้ดูแลเด็ก เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเล่นสนุกให้ลูกศิษย์
• ฟังเพลิน กับดนตรี นิทาน และ Talk จากเครือข่ายฯ แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญและผลลัพธ์ของการเล่น พบกับเรื่องเล่าจากเด็ก ๆ ที่เติบโตจากการเล่น เรื่องเล่าจากแม่ ๆ ที่ชวนลูกเล่น เรื่องเล่าจากพี่สาวที่เชื่อมั่นเสมอว่าการเล่นสำคัญกับเด็ก เรื่องเล่าจากครูนักเล่น และนิทานจากครูนักเล่า
ผู้สนใจสามารถจูง(มือ)ลูก พาหลาน หรือชวนเพื่อนบ้านมาร่วมงานได้จนถึงวันพรุ่งนี้ โดยสามารถมาด้วยรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะก็ได้ ในส่วนของการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หากเดินทางด้วย BTS ให้ลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก ประตู 2 สนามศุภชลาศัย ไปซอยจุฬาฯ 12 จากนั้นตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยจุฬาฯ 9 เดินไปอีกนิด อุทยานจะอยู่ข้างโครงการ I’m Park หรือต่อรถ Shuttle Bus สาย 2 หรือต่อแท็กซี่
หากเดินทางด้วย MRT จะเป็นสถานีสามย่าน เดินไปยังซอยจุฬาฯ 42 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอย จากนั้นเดินตรงไปเข้าซอยจุฬาฯ 9 และเดินต่อไปไม่ไกลจะเจออุทยาน 100 ปี จุฬาฯ หรือถ้าเป็นสถานีหัวลำโพง สามารถต่อแท็กซี่มาได้
สำหรับการเดินทางด้วยรถประจำทาง จะมีรถสาย 21, 40, 507 (ปอ.), 67, 73, 73 ก, 113 หรือหากใช้รถถส่วนตัว ทางอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มีที่จอดรถให้บริการ โดยมีทางเข้า-ออก 2 ประตู คือ ทางเข้าออก 1 ซอยจุฬาฯ 20 ถนนบรรทัดทอง ทางเข้าออก 2 ซอยจุฬาฯ 9
อนึ่ง ในวันนี้ นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้บริหารหรือผู้แทนภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และประชาชนทั่วไป ร่วมงาน