In News
'สันติ'รณรงค์พื้นที่ห่างไกล-เรือนแพไทย ใน'วันส้วมโลก'ให้มีส้วม100%จาก99.8%
กรุงเทพฯ-“เกณิกา” เผย รมช.สันติ ส่งเสริมพื้นที่ห่างไกล-เรือนแพมีสุขา สร้างสุขอนามัยคนไทย แนะสร้างระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล ลดการปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ ป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาด เนื่องในวันส้วมโลกสากล ปี 66
19 พ.ย. 66 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดงานรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2566 (World Toilet Day 2023) โดยได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ คือ “Accelerating change” หรือการเร่งรัดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั่วโลกประสบวิกฤตด้านสุขาภิบาล การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังล่าช้า และไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเคร่งครัด จึงเร่งรัดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านสุขาภิบาลให้เพียงพอปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาชน
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า งานดังกล่าวได้พัฒนา ยกระดับการส่งเสริมส้วมไทยให้ปลอดโรค ปลอดภัย โดยไทยได้มีการส่งเสริมการใช้ส้วมของครัวเรือนมากว่า 60 ปี พบว่า ปัจจุบันครัวเรือนไทยมีส้วมใช้ร้อยละ 99.8 ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีความใส่ใจ และเข้าถึงสุขาที่มีมาตรฐาน ซึ่งพบว่ายังมีสัดส่วน อีกร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 44,000 ครัวเรือน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขาที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งล้วนแล้วเป็นพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ยากลำบาก หรือพื้นที่ริมน้ำ จึงต้องเร่งรัดพัฒนาส้วมไทย ให้เหมาะสมเพื่อให้เข้าถึงการมีและใช้ส้วมอย่างเท่าเทียม
“คนในยุคปัจจุบันมีการใช้ชีวิตนอกบ้าน เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น จึงต้องมีการยกระดับพัฒนาส้วมสาธารณะให้มีมาตรฐานสูงขึ้น สามารถรองรับการใช้บริการตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างครอบคลุม นำมาสู่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ”น.ส.เกณิกา กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วโลกยังมีคนกว่า 3,500 ล้านคนทั่วโลก ยังไม่มีเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ได้รับการจัดการอย่างปลอดภัย องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันส้วมโลก โดยจัดงานรณรงค์วันส้วมโลกเป็นงานประจำปีของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดำเนินงาน ในการรับมือกับวิกฤติด้านสุขาภิบาลทั่วโลกและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (เอสดีจี) เป้าหมายที่ 6 การสร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน บรรลุป้าหมายย่อยที่ 6.2 การให้ทุกคนเข้าถึงการสุขาภิบาลและสุขอนามัย ที่พอเพียง เป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง ภายในปี 2573 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มเปราะบาง