Biz news
'มูลนิธิสัมมาชีพ'มอบโล่ต้นแบบสัมมาชีพ ชู'บุคคล–เอสเอ็มอี-วิสาหกิจ-ปราชญ์'
กรุงเทพฯ-“มูลนิธิสัมมาชีพ”จัดยิ่งใหญ่ งานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2566 แก่ผู้ประสบความสำเร็จการดำเนินกิจการบนแนวทางสัมมาชีพมอบรางวัล “บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ” แก่ “ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์”อดีตประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.เบทาโกรพร้อมรางวัลต้นแบบสัมมาชีพแก่ เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน-ปราชญ์ชาวบ้าน ต้นแบบสัมมาชีพ เผยเน้นสร้าง “ต้นแบบ” ที่ดีเพื่อขยายแนวทางปฏิบัติสู่วงกว้างสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สร้างสังคมที่ยั่งยืน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า มูลนิธิสัมมาชีพจะจัดงานมอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ”ครั้งที่ 9 ประจำปี 2566ขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ เพื่อประกาศเกียรติคุณและยกย่องเชิดชูบุคคล-เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน-ปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการประกอบการโดยยึดหลักปฏิบัติตามแนวทางสัมมาชีพนั่นคือ การประกอบอาชีพโดยไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้จะเป็นเสมือนต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้คนหรือองค์กรต่างๆ ได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมต่อไป และงานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สัมมาชีพ สร้างความมั่นคงฐานราก สร้างความยั่งยืนประเทศ : Stability for Sustainability”เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีการประกอบการบนหลักสัมมาชีพในวงกว้างแล้วย่อมจะนำมาซึ่งความสำเร็จ ความยั่งยืน
ทั้งตัวบุคคล ชุมชน องค์กร และประเทศชาติ
“การจัดงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพมีขึ้นเพื่อยกย่องผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการ ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องดีงามบนหลักของสัมมาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมซึ่งสิ่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมโดยรวม รางวัลนี้จึงเป็นการเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้างถึงผู้ที่มีแนวทางปฏิบัติดังกล่าว และสามารถนำไปเป็นต้นแบบปรับใช้
นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า หากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ดำเนินการบนแนวทางนี้แล้ว จะมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง” นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ”นี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ และรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ
“รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ” มอบให้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ อดีตประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ และอดีตประธานกรรมการบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2566 และนับเป็นบุคคลต้นแบบคนที่ 9 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ดร.ชัยวัฒน์ เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแบบอย่างของการก่อร่าง สร้างตัว จนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับมายาวนานด้านการทำธุรกิจโดยสุจริต โดยดร.ชัยวัฒน์เป็นผู้ยึดหลักการทำธุรกิจที่ว่า“ความถูกต้องต้องมาก่อนกำไร”ทั้งยังเป็นผู้โดดเด่นในการพัฒนาชุมชน-สังคม ตามแนวคิดธุรกิจจะเติบโตยั่งยืนได้ ต้องดูแลชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม ด้วย
สำหรับ “รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ” จะมอบให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีคุณลักษณะตามหลักสัมมาชีพ มีธรรมาภิบาล มีความสามารถทางธุรกิจและธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโต ควบคู่ไปกับการมีบทบาทส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม มีผู้ที่ได้รับรางวัล 5 ราย ดังนี้
บริษัทไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.มหาสารคาม เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายต้นกล้าพันธุ์พืชที่เกิดจากการขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ประดับ ไม้ผลและไม้เศรษฐกิจ บริษัทสามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเศรษฐกิจได้หลายสายพันธุ์ คิดค้นนวัตกรรมสารเคมีที่ใช้เพาะเลี้ยงให้ต้นกล้าสมบูรณ์ เติบโต มีการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้ เช่น นำนุ่นมาทดแทนวุ้นในอาหารสังเคราะห์ รวมทั้งร่วมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
บริษัทพิมธา จำกัด จ.ปราจีนบุรี ดำเนินกิจการแปรรูปไม้ไผ่เพื่อการตกแต่งและก่อสร้าง โดยใช้นวัตกรรมระบบป้องกันมอดในไม้ไผ่ด้วยการอัดน้ำยาแบบสุญญากาศ หรือ Vacuum เป็นรายแรกและรายเดียวในไทยซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของไม้ไผ่และอายุการใช้งานได้ดี ขณะที่ผลิตภัณฑ์ก็ช่วยสนับสนุนวัตถุดิบจากชุมชน
บริษัท สไมล์ฟาร์ม ฟู้ด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จ.ราชบุรี เป็นผู้ผลิตเฟรนช์ฟรายส์ที่ทำจากถั่วเขียวร้อยเปอร์เซ็นต์รายแรกและรายเดียวของไทย ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้ชอบเฟรนช์ฟรายส์ ตลอดจนผู้รักสุขภาพ และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทย การใช้วัตถุดิบจากถั่วเขียวมาแปรรูปให้มีมูลค่าสูงขึ้น
บริษัท อัฟนานจิวเวลรี่ จำกัด จ.ยะลา ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีทุกชนิดในสไตล์ศิลปะลังกาสุกะ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นการสืบทอดลวดลายศิลปะแบบโบราณ ทั้งยังมีการพัฒนาคนในท้องถิ่น และดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์มากมาย
บริษัท เทิร์นทูอาร์ต จํากัด จ.นนทบุรี เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สร้างสรรค์งานศิลปะ ผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างจิตสํานึกที่ดีต่อการจัดการขยะผ่านความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงด้านสิ่งแวดล้อมและกระจายรายได้สู่ชุมชน
“รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ” มีจำนวน 5 รางวัล มอบให้กับวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบการบนหลักสัมมาชีพ สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากสินค้าใหม่ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งนำความรู้ เทคโนโลยีมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ และดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัล 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
วิสาหกิจชุมชนประเภทการเกษตร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ จ.เพชรบูรณ์ เป็นวิสาหกิจที่นำแนวคิดด้านการออกแบบแฟชั่นมารวมกับธุรกิจการเกษตรของชุมชน ภายใต้โมเดลธุรกิจ “Fashion Farming” โดยมีแผนพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มจะเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น ข้าว กระเทียม และผลผลิตแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี สินค้าได้รับมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ มาตรฐาน GMP และจะพัฒนาสู่มาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก ทางกลุ่มยังสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนได้หลากหลายรุ่น
ประเภทแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง จ.ขอนแก่น เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเครือญาติ ขยายสู่สมาชิกในชุมชน ผลิตข้าวแตนจำหน่าย ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสาน และพัฒนาสู่การสร้างมูลค่าของข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาข้าวแตนสูตรต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่หลากหลายทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ
ประเภทแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน HAND-IN-HAND RUSO จ.นราธิวาสถือเป็นแบบอย่างความสำเร็จของชุมชนที่ได้รวมตัวและฝ่าฟันต่อปัญหาอุปสรรค จนมาสู่ความสำเร็จ โดยสานต่อโครงการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของภาครัฐ จนกิจการเติบโตเป็นโรงงานตัดเย็บขนาดใหญ่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพคนในชุมชน และต่อยอดผลิตภัณฑ์จากชุดนักเรียน เป็นเสื้อยืด ชุดกีฬา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยนำเอกลักษณ์ชายแดนใต้มาเป็นจุดเด่น ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ ในชุมชน
ประเภทการเงินและสวัสดิการชุมชน ได้แก่ สถาบันการเงินชุมชนบ้านดอน จ.เชียงใหม่ พัฒนาจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อส่งเสริมการออม จนให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร รวมถึงการรับชำระบิล การเติมเงินโทรศัพท์มือถือ โดดเด่นด้านระบบการบริหาร และนำระบบโปรแกรมสำเร็จรูปและแอพพลิเคชันมาใช้ ทำให้การบริหารมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ประเภทการบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นวิสาหกิจชุมชนที่นำจุดเด่นด้านสถาปัตยกรรมเมืองเก่ามาผสมผสานกับการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพ เน้นสร้างสิ่งแวดล้อมในเมืองโดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว Low Carbon เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มอาหารปิ่นโต กลุ่มการแสดง พิพิธภัณฑ์ บริษัททัวร์ และชุมชนท่องเที่ยวอื่นๆ ในภูเก็ต
“รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ”มี 4 รางวัล โดยเป็นรางวัลมีมอบให้แก่บุคคลที่ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน จนสำเร็จด้วยหลักสัมมาชีพ และนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการทำงานที่ก่อให้เกิดคุณค่า เผยแพร่ความรู้และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศโดยผู้ที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ประกอบด้วย
นายวิโรจน์ คงปัญญา จ.นครศรีธรรมราช ผลงานการเงินและสวัสดิการชุมชน ประธานวิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา อ.พรหมคีรี จ. นครศรีธรรมราช โดยเป็นผู้คิดค้นวิธีการบริหารระบบการเงิน การให้เงินกู้ การติดตามสมาชิก มีระบบบัญชีที่ได้รับมาตรฐาน รวมทั้งขยายสู่การพัฒนาอาชีพ จนถือเป็นโมเดลการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบของชุมชนได้ดี จนได้รับการส่งเสริมเป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์
นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ ผลงานด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์มังคุดประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน จ. ชุมพร ผู้นี้เป็นริเริ่มการรวมกลุ่มผู้ปลูกมังคุดท่ามะพลา เพื่อผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ โดยสร้างองค์ความรู้ตั้งแต่แผนการผลิต การดูแลบำรุง การใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ของดิน การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต ทำให้กลุ่มสามารถขายผลผลิตมังคุดในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด และช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังกลายเป็นโมเดลประมูลมังคุดเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ที่รู้จักในชื่อ“ท่ามะพลา โมเดล”
นายธนากร จีนกลาง ผลงานด้านการแปรรูปยางพาราไร้กลิ่นประธานวิสาหกิจชุมชนฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เป็นผู้นำนวัตกรรมโรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดมมาใช้ จากการวิจัยร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยโรงอบยางพาราดังกล่าว สามารถช่วยแก้ปัญหากลิ่นยาง ลดระยะเวลาอบ ลดมลพิษ ลดต้นทุนเชื้อเพลิง และยังทำให้ยางมีคุณภาพ ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก
นายก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ ผลงานด้านนวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นสีจากธรรมชาติและเป็นนวัตกรชุมชน อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยได้ประยุกต์ภูมิปัญญาและแปรรูปวัตถุดิบจากพืช ธรรมชาติ ของเหลือใช้ภาคเกษตร เพื่อใช้ย้อมเส้นใยไหม ฝ้าย แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สีต่างๆ จึงมีส่วนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และถือเป็นการจัดการภาคการเกษตรที่สอดคล้องกับอาชีพด้านหัตถกรรมของชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านนวัตกรรมสีย้อมจากต้นทุนทรัพยากรในแต่ละพื้นที่
“ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดนี้ เป็นเสมือน “ผู้นำทางสังคม” เป็นแนวทางที่จะให้ผู้คน ชุมชน ธุรกิจต่างๆได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ ซึ่งที่สุดแล้ว จะช่วยกันสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืน ให้กับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของไทยอย่างแท้จริง อันเป็นแนวทางที่มูลนิธิสัมมาชีพได้มุ่งให้เต็มพื้นที่ต่อไป” ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพกล่าว
สำหรับงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2566 จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.30 น.โดยได้รับเกียรติจากอดีต 3 รัฐมนตรีมามอบรางวัล ดังนี้ รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ มอบรางวัลโดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ มอบรางวัลโดย ดร.อรรชกา สีบุญเรืองอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รางวัลวิสาหกิจต้นแบบสัมมาชีพ มอบรางวัลโดย ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอดีตรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และรางวัลปราชาญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ มอบรางวัล โดยนายเอ็นนูซื่อสุวรรณรองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ
นอกจากนี้ นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) จะกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ช่องสาริกา โมเดล" การพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมสู่ความยั่งยืนของเบทาโกร
ขณะที่ในภาคบ่ายของงานมอบรางวัล มีการจัดเวทีถอดบทเรียนความสำเร็จของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับรางวัล โดยมีการบรรยายในหัวข้อ“Sammachiv Award ความสำเร็จและบทเรียนที่ควรส่งต่อ” โดยดร.นัชชา เทียมพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท วิชแอนด์ไวส์ จำกัด ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม และอาจารย์ มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)“เส้นทางสู่ต้นแบบ : แนวทางพัฒนาเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน”