In News
นบข.คืบหน้าหนุนค่าบริหารไร่ละพันบาท อุ้มโรงสีชดเชยดอกเบี้ย4%เงินซื้อข้าว
กรุงเทพฯ-นบข. คืบหน้าสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ ไร่ละ 1,000 บาท พร้อมเสนอโครงการชดเชยดอกเบี้ย 4% เพิ่มสภาพคล่องซื้อข้าวให้โรงสี เข้า ครม. 28 พ.ย.นี้
วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น.) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า
ความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 66 ได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท รายละ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท วงเงิน 56,000 ล้านบาท และจากการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 66 มีมติเห็นชอบดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยมีอัตราการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้จากการจ่ายสินเชื่อให้กับ ธ.ก.ส. เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยเทียบเคียงมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ในส่วนเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรจ่ายสมทบ รัฐบาลจะจ่ายส่วนที่เหลือรวมแล้วเท่ากับร้อยละ 4.5 ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราชดเชยประเภทเงินสำรองจ่ายเพื่อการชดเชยต้นทุนเงินค่าฝากเก็บในอัตราต้นทุนเงินประจำไตรมาส บวก 1 (ต้นทุนเงินประจำไตรมาส ร้อยละ 1.76 เท่ากับชดเชยร้อยละ 2.76) คาดการณ์เริ่มสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ ไร่ละ 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ย. 66 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 วัน ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมตินำโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2566/67 โดยช่วยชดเชยดอกเบี้ยโรงสี ร้อยละ 4 มีเป้าหมาย 4 ล้านตัน ใช้งบประมาณ 780 ล้านบาท
จากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะจ่ายคืนให้ทีหลัง โดยระยะเวลารับซื้อของพื้นที่ทั่วไปเริ่มตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ถึง 31 มี.ค.2567 ในส่วนภาคใต้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2567 มีระยะเวลารับฝากข้าวตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ถึง ธ.ค.2567 ซึ่งจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 พ.ย. 66 อีกด้วย