In News
'เชียงใหม่-สุโขทัย'ฮอต'ลอยกระทงปี66' วธ.ชี้คนไทย69%จะขอขมาพระแม่คงคา
กรุงเทพฯ-วธ.ปลื้มเผยผลโพล“วันลอยกระทง” ปี 66 คนไทยร้อยละ 69.33 เห็นความสำคัญเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขณะที่งานลอยกระทงเผาเทียน เล่นไฟสุโขทัย ประเพณียี่เป็งล้านนา เชียงใหม่เป็นสถานที่อยากไปลอยกระทงมากที่สุด ส่วนใหญ่หนุนแต่งชุดไทยไปลอยกระทงอนุรักษ์ความเป็นไทย วธ.พร้อมผลักดันประเพณีลอยกระทงสู่ระดับนานาชาติ
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อ “วันลอยกระทง” ประจำปี พ.ศ. 2566 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 17,428 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยผลสรุปพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.38 ทราบว่าวันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อสอบถามความเห็นการลอยกระทง เป็นการร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่สังคมไทยหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 92.33 เห็นด้วย และเห็นว่าประเพณีลอยกระทงมีความสำคัญอย่างไร 3 อันดับแรก คือ ร้อยละ 69.33 เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ร้อยละ 50.98 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และร้อยละ 46.49 เพื่อรู้คุณค่าของน้ำ และการปฏิบัติต่อการใช้น้ำ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าสถานที่ที่จะไปลอยกระทงในปีนี้ 3 อันดับแรก พบว่า ร้อยละ 49.33 ตามงานวัด ชุมชน สวนสาธารณะ ที่จัดงานลอยกระทง ร้อยละ 23.56 สระน้ำ บึง แม่น้ำ ลำคลอง และร้อยละ 10.46 ยังไม่แน่ใจ ส่วนสถานที่ที่มีความน่าสนใจในการลอยกระทง 3 อันดับแรก คือ ร้อยละ 28.90 จังหวัดสุโขทัย งานการแสดงแสงเสียง งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ร้อยละ 19.64 จังหวัดเชียงใหม่ งานประเพณียี่เป็งล้านนา/ประเพณีเดือนยี่เป็ง และร้อยละ 17.16 ไอคอนสยาม นอกจากนี้ ผลสำรวจได้สอบถามควรจัดกิจกรรมใดในงานประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 58.76 การประกวดกระทงสวยงาม ร้อยละ 53.60 เห็นว่า ควรจัดกิจกรรมการประกวดนางนพมาศ ร้อยละ 48.85 กิจกรรมการแต่งกายชุดไทยเข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 43.33 กิจกรรมการทำบุญ ไหว้พระ และร้อยละ 41.73 กิจกรรมการแสดงดนตรีไทย และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ส่วนการลอยกระทงอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 71.09 เห็นว่า ลอยกระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติ ร้อยละ 51.50 1 ครอบครัว 1 กระทง และร้อยละ 45.02 ลอยกระทงออนไลน์ และเมื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะจูงใจหรือเชิญชวนเข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ร้อยละ 63.69 เห็นว่า ครอบครัวพาลูกหลานไปร่วมงานลอยกระทง ร้อยละ 48.78 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ ส่งเสริม อนุรักษ์และสืบสานประเพณีลอยกระทง และร้อยละ 42.66 เข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสอบถามถึงเด็ก เยาวชน และประชาชนห่วงและกังวลมากที่สุดจากการจัดงานประเพณีลอยกระทงในปีนี้พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 31.50 เกิดอุบัติเหตุ เช่น พลัดตกน้ำ จมน้ำ อุบัติเหตุทางการจราจร ร้อยละ 25.78 เกิดขยะในแม่น้ำ และร้อยละ 20.68 การทะเลาะวิวาท การทำอนาจาร ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามเกี่ยวกับ เด็ก เยาวชน และประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนแต่งกายชุดไทยไปลอยกระทง ส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ แสดงถึงความเป็นไทย ร่วมสืบสานประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง เป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้ร่วมกันสวมใส่ชุดไทยในงานเทศกาลประเพณีและยังทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งยังได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่บริการให้เช่าและจำหน่ายชุดไทยด้วย
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแนวทางที่ให้กระทรวงวัฒนธรรมได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ควรจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงทุกปี เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่าไม่ให้สูญหาย การปฏิบัติตามแบบประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและการแสดงความกตัญญูต่อ “น้ำ” และสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด การส่งเสริมและรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติในการทำกระทง ร่วมใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า วธ.พร้อมรับความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับวันลอยกระทงมาดำเนินการทั้งการส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนแต่งกายชุดไทยไปลอยกระทงเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทยและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สนับสนุนการจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทง เช่น การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่าย และจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน เป็นต้น รวมทั้งมุ่งยกระดับงานประเพณีลอยกระทงให้เป็นงานระดับนานาชาติ