In Thailand

สสจ.กาญจน์ประกาศเตือน'วันลอยกระทง' ระวัง!'จุดพลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ'



กาญจนบุรี-สสจ.กาญจน์ ประกาศเตือน ปชช.ระวังอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ โคมลอย ช่วงวันลอยกระทง ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียได้ พร้อมแนะนำประชาชนร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงใช้วัสดุธรรมชาติ มีสติไม่ประมาท งดเหล้าป้องกันการทะเลาะวิวาท ป้องกันอุบัติเหตุ และระวังพลัดตกน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566) น.พ.ปริพนท์ จุลเจิม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า " ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันลอยกระทงประจำปีนี้ หลายพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรีจัดให้มีสถานที่สำหรับให้ประชาชนลอยกระทงตามประเพณี ซึ่งในช่วงเทศกาลดังกล่าวประชาชนนิยมจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง หรือดอกไม้ไฟ ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเฉลิมฉลอง ปล่อยโคมตามความเชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยความทุกข์และเรื่องร้ายต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอัคคีภัยและส่งผลกระทบทางการบินของเครื่องบินต่างๆ รวมถึงมักเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นประจำทุกปี

จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 594 ราย พบมากในเดือนมกราคม ธันวาคม ตุลาคม พฤศจิกายน ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเทศกาลต่างๆในประเทศไทย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1-14 ปี (ร้อยละ 23.4) รองลงมา 15-29 ปี (ร้อยละ 22.7) อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 3 อันดับแรก คือ มือ และนิ้ว (ร้อยละ 58.4) ตา (ร้อยละ 7.5) หัวและคอ (ร้อยละ 6.6) สำหรับคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ 

ดังนี้ 1.ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง  2. ออกห่างจากบริเวณที่จุดประทัดหรือพลุ  3.สอนเด็กให้รู้ถึงอันตรายของพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ เช่น อาจทำให้ตาบอด หูตึง นิ้วขาด พิการ หรือเสียชีวิตได้  4.ห้ามโยนพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟใส่ผู้อื่น  5.ไม่ควรจุดซ้ำหากจุดแล้วไม่ติด  6.หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธีควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน ควรจุดในที่โล่งไม่จุดใกล้วัตถุไวไฟ ใบไม้แห้งอาคารบ้านเรือน และไม่ควรจุดครั้งละจำนวนมาก  7.ห้ามเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน เพราะอาจระเบิดได้  8.ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ขอย้ำเตือนว่าการเล่นดอกไม้ไฟจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี  กล่าวต่อไปว่า " ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลอยกระทงด้วยวัสดุธรรมชาติ จะช่วยรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ ไม่ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุที่เป็นพลาสติก โฟม และการใช้เข็มหมุดกลัด รวมทั้งช่วยกันรักษาความสะอาดบริเวณแหล่งน้ำเพื่อช่วยลดปัญหาขยะและการเกิดปัญหาจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ นอกจากนี้ควรป้องกันอุบัติภัยด้วยความไม่ประมาท ควรงดดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดซึ่งจะทำให้เกิดการมึนเมา มีความคึกคะนอง ส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุได้ ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท ขณะลอยกระทงให้ระวังการพลัดตกน้ำ ควรเลือกสถานที่ลอยกระทงที่ปลอดภัย ท่าน้ำที่มั่นคงแข็งแรง ตลิ่งไม่ลื่น ไม่สูงชัน ครอบครัวควรดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดเมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือยืนใกล้ขอบบ่อ/สระ ป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงวันลอยกระทง ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงหรือปล่อยเด็กเล็กอยู่ตามลำพัง เพื่อป้องกันการจมน้ำ เป็นการปฏิบัติโดยคำนึงถึงความปลอดภัย หากประชาชนปฏิบัติได้จะทำให้มีความสุขทั้งกายและใจ มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและสุขภาพ ตลอดจนร่วมสืบสานงานลอยกระทงให้เป็นประเพณีที่ดีงามตามวัฒนธรรมไทยต่อไป