In News

ภารกิจนายกฯตรวจงานชายแดนสระแก้ว ยันมีศักยภาพสั่งลุยเขตศก.รับค้าชายแดน



สระแก้ว-สรุปภารกิจการเดินทางลงตรวจงานของนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดสระแก้ว ย้ำจังหวัดสระแก้วมีศักยภาพสูง มีความพร้อมที่จะพิจารณายกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก่อนหน้านี้ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เชื่อมั่นจังหวัดสระแก้วมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัดที่มีอยู่อย่างแท้จริง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น โดยนายกฯตรวจเยี่ยมจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว รับฟังบรรยายสรุปภาพรวม ข้อเสนอแนะและสภาพปัญหา ยืนยันนโยบายหลักรัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและติดตามความคืบหน้าพื้นที่ก่อสร้างอาคาร CIQ ของกรมศุลกากร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ย้ำให้เร่งดำเนินการโดยเร็วให้เป็นไปตามแผน

เมื่อ25 พ.ย. 66 ณ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงต่อสื่อมวลชนสรุปภาพรวมการเดินทางมาลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สระแก้ว สรุปสาระสำคัญดังนี้ 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเดินทางมาจังหวัดสระแก้วในวันนี้ มาดูแลเรื่องการค้าการลงทุน โดยจุดแรกได้ไปดูจุดผ่อนปรนที่เชื่อมต่อการค้าระหว่างฝั่งชายแดนไทยกับฝั่งชายแดนกัมพูชา ซึ่งมีความล่าช้าของการสร้างด่านศุลกากร ที่ล่าช้ามานานมากแล้ว โดยจากการสอบถามรักษาการอธิบดีกรมศุลกากร พบว่าสัญญาการก่อสร้างสัญญาเก่าทำมาเนิ่นนานและได้ยกเลิกสัญญาไป ซึ่งเมื่อมีการทำผิดสัญญาก็ต้องแบล็คลิสต์และหาผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหม่ โดยระยะเวลาก่อสร้างจาก 600 วัน สามารถต่อรองลงมาได้เหลือ 400 วัน ซึ่งการก่อสร้างในปัจจุบันมีฐานรากเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นน่าจะแล้วเสร็จภายใน 400 วัน โดยจะเป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาดีขึ้น และนอกเหนือจากการก่อสร้างแล้วก็ได้ดูเรื่องขั้นตอนการนำสินค้าผ่านเข้า-ออก โดยให้ทางศุลกากรที่หนองคายเป็น Test Case ว่าจะต้องทำให้สำเร็จเป็น One Stop Service Single Window Single Form ให้ได้โดยเร็วที่สุด และจะนำมาใช้ที่จังหวัดสระแก้วด้วย ทั้งนี้ หากสร้างสถานที่เสร็จแล้ว สร้างด่านศุลกากรเสร็จแล้ว สร้างถนนเสร็จแล้ว แต่ต้องมาเสียเวลาในแง่ของการพิธีการ ก็จะไม่ได้เอื้อประโยชน์ในทางการค้าเท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะเรามีการค้าที่เยอะมาก มีปริมาณการค้าปีหนึ่งกว่าแสนล้านบาท มีประชากรทั้งสองประเทศเข้า-ออก ซึ่งกันและกัน รวมถึงชาวต่างชาติอื่น ๆ ด้วยประมาณ 10 ล้านคน เพราะฉะนั้น การอำนวยความสะดวกทางด้านการเข้า-ออกเมืองมีความสำคัญ โดยฝั่งไทยมีการใช้การสแกนหน้าผ่านเข้า-ออกได้แล้ว แต่ทางฝ่ายกัมพูชายังไม่มี ก็ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศไปดำเนินการพูดคุยต่อว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะเอื้อให้การเข้า-ออกของทั้งสองฝั่งดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีการสนับสนุนทางการค้ามากขึ้น มีคนเข้า-ออกมากขึ้น ตรงนี้อาจจะเป็นปัญหาถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจากที่ได้ไปตลาดโรงเกลือ มีคนเข้า-ออกมาก อยากให้มีด่านในการทำพาสปอร์ต และมี Day Pass ด้วย ซึ่งจะได้อำนวยความสะดวกให้กับคนที่เข้า-ออกได้มากขึ้น รวมถึงการจะขอร้องให้กระทรวงการต่างประเทศไปตั้งกงสุลพิเศษของประเทศไทยที่เสียมเรียบด้วย ซึ่งทางกัมพูชามีอยู่แล้วที่อรัญประเทศ ฉะนั้นการเข้า-ออกจะได้สะดวกสบายขึ้น ถ้ามีธุรกรรมก็จะไม่ต้องเดินทางเข้าไปถึงกรุงพนมเปญ ทำให้การค้าของทั้งสองประเทศดีมากยิ่งขึ้นต่อไป 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า ในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้มาพูดคุยเรื่องการค้าและการอุตสาหกรรม โดยในวงประชุมหนึ่งมีการนำโกโก้มาให้ชิม ซึ่งโกโก้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ปัญหาอยู่ที่เรื่องโรงงานแปรรูป ถ้ามีโรงงานแปรรูปที่ดีที่เหมาะสม รสชาติของโกโก้ก็จะดี อีกทั้งผลโกโก้สามารถนำมาทำได้หลายอย่าง ทั้งนำมาทำเครื่องดื่มโก้โก้ หรือทำเครื่องสำอาง ซึ่งได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่าน่าจะลองใช้จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดทดลองทำ ตั้งโรงงานขนาดเล็กขึ้นสำหรับแปรรูปโกโก้ สนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น สามารถทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วซึ่งมีขนาดใหญ่มาก มีพื้นที่หลายร้อยไร่ แต่สร้างมาแล้ว 4 ปี ก็ยังไม่มีคนเข้ามาเช่าอยู่จนถึงศักยภาพที่สามารถเป็นไปได้ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลคือค่าเช่ามีราคาแพง เป็นการเช่าระยะยาว ไม่สามารถขายขาดได้เพราะเป็นที่ราชพัสดุ บริหารจัดการโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะกลับไปพิจารณาเรื่องค่าเช่า เพื่อให้เหมาะสมกับการตลาด และสามารถทำการเช่าได้ นอกจากนี้ มีกฎหมายบางฉบับ เช่น ห้ามโรงงานปล่อยควันออกมา ซึ่งเป็นขีดจำกัดที่จะให้ผู้ประกอบการมาเช่า จึงจะไปพูดคุยและมีการทำ EIA ที่เหมาะสม ไม่เกิดความขัดแย้งกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้ตรงนี้สามารถทำอุตสาหกรรมได้หลายประเภท โดยมอบหมายให้เลขาธิการ BOI ไปพูดคุยว่าจะสามารถยกระดับจังหวัดสระแก้วซึ่งมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งระยะทางไปท่าเรือแหลมฉบังก็ไม่ไกล และมีสนามบินกองทัพอากาศ ซึ่งอาจจะสามารถพัฒนาให้เป็นกึ่งพาณิชย์ได้ สามารถมีการขนส่งสินค้าและประชาชนได้ 

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ เพราะฉะนั้น เรื่องการที่มีหลายภาคส่วนสนใจจะมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อดูจากองค์ประกอบโดยรวมแล้วศักยภาพของจังหวัดสระแก้วมีความพร้อมที่จะพิจารณายกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะปัจจุบันเรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ที่ 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง โดยจากที่ติดตามมาจะทราบว่า มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่อยากจะมาลงทุน มี Demand มาก แต่ Supply น้อย ซึ่ง 3 จังหวัดอาจจะไม่เพียงพอ ราคาที่ดินที่จะขายก็มีราคาสูงขึ้น ดังนั้น จังหวัดสระแก้วมีความพร้อมที่จะเสนอตัวเข้ามาเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ โดยวันนี้รัฐบาลมาครบ มาพูดคุยกัน ดึงศักยภาพของจังหวัดสระแก้วออกมา ซึ่งเมื่อกลับไปแล้วมีการบ้านที่จะต้องทำอีกมาก 

นายกฯ ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เชื่อมั่นจังหวัดสระแก้วมีศักยภาพสูง

ก่อนหน้านี้นายเศรษฐาได้ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม พัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตรรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องและเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจร รวมทั้งให้บริการอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย เป็นต้น โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับสาระสำคัญสรุป ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายการบริหารจัดการภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมีจุดเด่นคือมีที่ตั้งอยู่บนทำเลที่ตั้ง-ประตูสู่อินโดจีน อยู่บนจุดเชื่อมโยงระเบียงเขตเศรษฐกิจ การบริหารจัดการและบริการด้วยมืออาชีพ ทั้งบริการอนุญาตอนุมัติ และสิทธิประโยชน์แบบ One Stop Service: OSS โดยศูนย์บริการธุรกิจ (Total Solution Center: TSC) ได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ  โดยมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่และสาธารณูปโภคด้วยเทคโนโลยีเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจชุมชนเพื่อกระจายรายได้ บริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ โลจิสติกส์และบริการ สินค้าเกษตรและแปรรูป พลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์ เครื่องจักและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการรับฟังภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยย้ำถึงนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนถึงการค้าขาย จากการที่ได้เดินทางลงมาในพื้นที่ เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เห็นว่า จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ตาม ที่ยังมีอุปสรรคปัญหาคือกรณีกลัวและไม่ยอมให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือการกำหนดอัตราค่าเช่าระยะยาวที่สูงเกินไป ทำให้พื้นที่ที่นำมาจัดสรรก็จะกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีการจ้างงานแต่ไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น ก็จะทำให้ไม่เป็นประโยชน์ต่อนโยบายที่วางไว้ ซึ่งในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จะไปดูแลเร่งรัดในเรื่องนี้ให้ ส่วนการจัดทำเรื่อง EIA เรื่องของปล่องไฟหรือปล่องควันของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วนั้น ขอให้จัดทำให้ถูกต้อง ส่วนการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่าง ๆ เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้อยู่แล้ว เพื่อพลิกพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และทำให้มีรายได้ที่ดีขึ้นต่อพี่น้องประชาชน รวมไปถึงจะมีการพิจารณาพูดคุยในการที่จะนำสนามบินทหารที่มีอยู่แล้วของจังหวัดสระแก้วมาพัฒนาเป็นกึ่งเชิงพาณิชย์ด้วย ที่สำคัญคือมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ที่จะทำให้พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตรงนี้ สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัดที่มีอยู่อย่างแท้จริง

นายกฯ ตรวจเยี่ยมจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศข้อเสนอแนะและสภาพปัญหา

นายกรัฐมนตรียังได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปภาพรวม ข้อเสนอแนะ และสภาพปัญหาของจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หอการค้าจังหวัดสระแก้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่านโยบายหลักของรัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจังหวัดสระแก้วขณะนี้กำลังดำเนินการสร้างอาคารศุลกากร ถ้าขาดการอำนวยความสะดวก โครงการต่าง ๆ ก็จะมีความล่าช้า จะเห็นได้ว่าปริมาณการขนส่ง ปริมาณการค้าขายในหนึ่งปีมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ถือเป็นปริมาณที่สูงมาก ส่วนเรื่องของ One Stop Service เราเสียเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะมาก ถ้าต้องมาเสียเวลาผ่านกระบวนการหลายจุด หลายที่ ก็จะทำให้การส่งสินค้ามีความล่าช้า การจัดส่งสินค้าอาจมีความเสียหาย มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะไม่ตอบโจทย์กับนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนพิจารณาที่จะมาตั้งโรงงานที่จังหวัดสระแก้วนั้นคือเรื่องของน้ำ เพราะจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่ไม่ขาดแคลนน้ำ มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี และจังหวัดสระแก้วยังสามารถเชื่อมต่อไปยังแหลมฉบังและประเทศกัมพูชาได้ ทั้งนี้ ขอให้เลขาธิการ BOI ไปพิจารณาว่าควรมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่อาจจะเริ่มแออัด โดยตลอดสองเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเดินทางไปชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งหลายบริษัทก็ให้ความสนใจเป็นอย่างดี นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะกระจายความเจริญไปสู่เมืองรอง เพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการจัดตั้งสถานกงสุลไทยเพิ่มในกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ว่าขอฝากให้ฝ่ายเลขาฯ และกระทรวงการต่างประเทศช่วยกันกำกับและติดตามภายใน 30 วัน พิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้หรือไม่ หากดำเนินการได้ขอให้เสนอเรื่องขึ้นมา จะเห็นได้จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงแรมแกรนด์ไดม่อนซิตี้ จนทำให้มีคนไทยเสียชีวิต การที่จะนำศพกลับเข้าประเทศได้นั้นจะต้องมีการพิสูจน์อัตลักษณ์ ทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็ต้องการให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกในเวลาที่โศกเศร้า จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาดูแลเรื่องของสภาพถนนของพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เนื่องจากถนนมีความเสียหายจากการขนส่งสินค้าของรถบรรทุกขนาดใหญ่ รวมทั้ง นายกรัฐมนตรียังฝากให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ของจังหวัดสระแก้ว นำส่วนต่าง ๆ ของโกโก้ไปพัฒนาเป็นสินค้าอื่น ๆ เพื่อยกระดับให้เป็นสินค้าประจำจังหวัด ส่งออกสู่ต่างประเทศ หากดำเนินการสำเร็จจังหวัดสระแก้วก็จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาและยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ไปตรวจเยี่ยมบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก พร้อมกับพูดคุยและร่วมถ่ายภาพกับนายอุม เรึยแต็ย ผู้ว่าราชการจังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย นายเกียรติ ฮุล ผู้ว่ากรุงปอยเปต และนายเสรียง ลี กงสุล ณ สะพานด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ก่อนเดินทางต่อไปที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว 

นายกฯ ติดตามความคืบหน้าพื้นที่ก่อสร้างอาคารCIQ ของกรมศุลกากร อ.อรัญประเทศให้เป็นไปตามแผน

นายเศรษฐา เริ่มต้นการตรวจงานด้วยการติดตามความคืบหน้าพื้นที่ก่อสร้างอาคาร CIQ ของกรมศุลกากร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ณ สะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมตรวจเยี่ยมด้วยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนถาวร (บ้านหนองเอี่ยน) โดย นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนชั่วคราวโดย นายภูมิวัชร์ อุดมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปิดจุดผ่านแดนฯ โดย นายยังพรพิชิต กลิ่นมาลี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสระแก้ว (วัฒนานคร) และโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท ราชอาณาจักรกัมพูชา โดย พันเอก ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA)

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการก่อสร้างอาคาร CIQ ของกรมศุลกากร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วเป็นเรื่องเร่งด่วน และขอให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผน ส่วนกรณีที่ผู้รับเหมาทิ้งงานจนทำให้การก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนถาวร (บ้านหนองเอี่ยน) ด่านศุลกากรอรัญประเทศล่าช้านั้น ขอให้มีการพิจารณาขึ้นแบล็คลิสต์ด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้่ รวมถึงได้สอบถามถึงประเภทและปริมาณของสินค้าต่าง ๆ ที่ขนส่งผ่านแดนดังกล่าว โดยแนะว่าหากก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนฯ แล้วเสร็จขอให้มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะให้มีการเปิดด่าน 24 ชั่วโมง

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนถาวร (บ้านหนองเอี่ยน) ด่านศุลกากรอรัญประเทศ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ ณ หนองเอี่ยน-สตึงบท โดยเร็ว โดยในส่วนพื้นที่หนองเอี่ยนให้เน้นการขนส่งสินค้าทางรถ พื้นที่คลองลึกให้เน้นการพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวและด้านการคมนาคมโดยเฉพาะรถไฟและพื้นที่ป่าไร่ให้เน้นการพัฒนาด้านการค้าขายและด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ได้เสนอให้เร่งดำเนินโครงการพัฒนาทั้ง 3 ด่านชายแดน ดังนี้ 1) พัฒนาด่านศุลกากรอรัญประเทศบ้านคลองลึก เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าทั้งทางถนนและทางรถไฟ 2) พัฒนาด่านบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบทเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า 3) พัฒนาด่านบ้านป่าไร่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าทางรถขนาดใหญ่

ด้านสถานที่ก่อสร้าง กรมทางหลวงได้เสนอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3646 สายทดน้อย - หนองเอี่ยน พ.ศ. 2560 โดยได้มอบพื้นที่จำนวน 132.5 ไร่ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ให้แก่กรมศุลกากรเพื่อก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนถาวร (บ้านหนองเอี่ยน) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 อนุมัติรายการและวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนถาวร (บ้านหนองเอี่ยน) ด่านศุลกากรอรัญประเทศ ได้รับอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2564 วงเงินรวมทั้งสิ้น 294,000,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยกรมศุลกากร ทั้งนี้ อุปสรรคปัญหาคือสัญญาเดิมยกเลิกเนื่องจากผู้รับจ้างผิดสัญญา โดยทำงานก่อสร้างไปแล้วคิดเป็น 40% (สัญญาเดิมราคากลาง 280 ลบ. เซ็นสัญญา 234.99 ลบ.) สัญญาใหม่ราคากลาง 236 ลบ. เซ็นสัญญา 226.5 ลบ. (สัญญาใหม่ลงนามภายใน พ.ย. 66 สิ้นสุด มิ.ย. 68) ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2568

ส่วนการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนชั่วคราว บริเวณสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (หนองเอี่ยน สะตึงบท) พื้นที่ 1,877 ตร.ม. จุดตั้งโครงการอยู่ห่างจากบริเวณก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรประมาณ 600 เมตรตั้งอยู่ฝั่งขาเข้าประเทศไทย เนื่องจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อเป็นการย่นระยะเวลาในการเปิดจุดผ่านแดนถาวร และกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงแรมแกรนด์ไดมอนด์ ซิตี้ กรุงปอยเปต จังหวัดบ็อนเตียย์เมียนเจ็ย ราชอาณาจักรกัมพูชา (28 ธ.ค.65) ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จังหวัดสระแก้วมีคำสั่ง ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 อนุญาตให้เปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) สำหรับนำเข้าส่งออกสินค้าเป็นการชั่วคราว ตามที่ด่านศุลกากรอรัญประเทศเสนอ ทำให้รถบรรทุกสินค้าคันแรกสามารถส่งออกสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวได้ เมื่อเวลา 07.00 น.ของวันที่ 30 ธันวาคม 2565 เป็นต้นมา

โดยจังหวัดสระแก้วมอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระแก้ว จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนชั่วคราว บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา วงเงินจำนวน 5,895,000 บาท ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์สำนักงานจำนวน 2 ตู้ และงานถมดินพร้อมบดอัดแน่นที่ระดับความสูง 3.00 เมตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากการก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรแล้วเสร็จ พร้อมใช้งาน จังหวัดสระแก้วจะส่งมอบทรัพย์สินโครงการก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนชั่วคราว บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สะตึงบท) ให้แขวงทางหลวงจังหวัดสระแก้วเป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ต่อไป ปัจจุบันมีรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกผ่านช่องทางฯ ดังกล่าวเฉลี่ยวันละ 481 คัน (รวมทั้งขาเข้าและขาออก)