Biz news
สถาปนิกสยามร่วมกับนีโอจัดงานใหญ่ ASA Building and Construction Forum 2020
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) คณะผู้จัดงานสถาปนิก’64 ได้จัดงาน ASA Building and Construction Forum 2020 (ASA BC Forum 2020)ในหัวข้อ “Emerging Challenges, Recovering Industries” ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และการก่อสร้างจากหน่วยงานและบริษัทชั้นนำ ร่วมกันระดมความคิด ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง และสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้หลายอาชีพหลายธุรกิจต่างต้องปรับตัวเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว ‘สถาปนิก’ เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและผลักดันให้แวดวงสถาปนิกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เราได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสถาปนิกไทยและสร้างเครือข่ายเพื่อใช้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดงานสถาปนิก ซึ่งถือเป็นงานจัดแสดงสินค้านวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยในระดับนานาชาติ เป็นต้น
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเเละเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการออกแบบและสิ่งก่อสร้าง สมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) จึงจัดงาน ASA Building and Construction Forum 2020 ภายใต้แนวคิด "Emerging Challenges, Recovering Industries" ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 1 - 2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อนําเสนอภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และแนวทางในการดําเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม และและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย
อุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างไทย เรียกได้ว่า เป็นศูนย์กลางของอาเซียน (Hub) โดยมีผลงานการออกแบบของนักออกแบบไทยที่ได้รับการยอมรับ และปรากฏในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สมาคมสถาปนิกสยามฯ จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของสถาปนิกไทยให้มีความพร้อมในทุกองค์ความรู้ และเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างสถาปนิกและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เติบโตไปพร้อมกัน นายชนะกล่าว
ด้าน ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานการจัดงานสถาปนิก'64 กล่าวเสริมว่า สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจและผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของไทย ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และการค้าการลงทุน มาร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “THAILAND ECONOMIC OUTLOOK 2020 – 2022 ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2563-2565” เพื่อเป็นการฉายภาพเศรษฐกิจ การลงทุน และการปรับตัวของผู้ประกอบการในระยะ 2-3 ปีต่อจากนี้ โดยมี ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ พูดคุยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2563-2565 และโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ คุณรังสิน กฤตลักษณ์ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พูดคุยถึงทิศทางการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และปัจจัยเสี่ยงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดในโครงการคืนชีวิตให้ศุลกสถาน พัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสามเป็นบูติกโฮเต็ล คุณภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เจาะลึกถึงทิศทางอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อสร้าง ดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงทิศทางตลาดทุนไทย และการปรับตัวเพื่อทางรอดของธุรกิจไทย และคุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พูดถึงเทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร และความสามารถในการแข่งขันของสถาปนิกไทยสู่ตลาดโลก
ในการจัดงานสัมมนาดังกล่าว ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบในแวดวงสถาปนิก อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง รวมไปถึงนักลงทุน คณะผู้จัดงานฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาแผนธุรกิจ ร่วมกันก้าวข้ามอุปสรรค มองถึงโอกาสในอนาคต และส่งเสริมอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างให้เติบโตอย่างยั่งยืน