In News

นายกฯไทย-มาเลย์จับมือพัฒนาชายแดน ประเดิม'การค้า-ท่องเที่ยว-การเกษตร'



สงขลา-​นายกฯไทย-มาเลเซีย ต่อยอดความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดน พร้อมขับเคลื่อนคณะทำงานด้านการค้า การทางเที่ยว การเกษตร และความมั่นคงชายแดน ให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (27 พ.ย. 2566) เวลา 11.00 น. ณ ด้านหน้าอาคารสำนักงานด่านศุลกากรสะเดา (แห่งใหม่) อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) ต่อยอดผลการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย

หลังจากนั้น เวลา 11.20 น. ณ ห้องพระนิกรบดี อาคารสำนักงานด่านศุลกากรสะเดา (แห่งใหม่) นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีเต็มคณะร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีฝ่ายไทยประกอบด้วย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับรัฐมนตรีฝ่ายมาเลเซีย ประกอบด้วย Dato’ Sri Alexander Nanta Linggi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ Dato’ Sri Tiong King Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม สาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวชื่นชมการหารือว่ามีประโยชน์ และเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือ แต่ยังมีประเด็นที่ยังต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางการค้า ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่ได้มาหารือกันวันนี้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนและต่อยอดความร่วมมือจากที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดน สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำไทยและมาเลเซียที่ต่างเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนให้ก้าวหน้า และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายแดนของทั้งสองประเทศ 

สำหรับการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงาน (Task force) ซึ่งไทยได้จัดตั้งคณะทำงานฯ 4 ด้าน คือ 1) การค้าและการค้าชายแดน 2) การท่องเที่ยว 3) การเกษตร และ 4) ความมั่นคง โดยต่างหวังว่าคณะทำงานร่วมไทยและมาเลเซียจะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันได้เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ 

ด้านการค้า ผู้นำทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะผลักดันการค้าและการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านการค้าระหว่างกัน ไทยและมาเลเซียควรร่วมมือกันให้ใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็นไปตามเป้าหมาย Joint Action Plan

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน ดังนี้

1) นายกรัฐมนตรีขอให้มาเลเซียเป็นเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission: JTC) ในระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ เพื่อเป็นเวทีหารือถึงความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาที่ยังค้างค้างระหว่างกัน 
2) นายกรัฐมนตรีขอให้มาเลเซียช่วยเร่งรัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross-Border Transport of Goods) โดยประเด็นเรื่องการข้ามพรมแดน เช่น ด่านสะเดา ทางมาเลเซียจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เปิดใช้งานเพราะมีหอการค้า (Chamber of Commerce) ที่อยู่ชายแดนให้เร่งติดตาม
3) นายกรัฐมนตรีขอให้ส่งเสริมควาร่วมมือระหว่างหอการค้าในระดับท้องถิ่นของทั้งไทยและมาเลเซีย เพื่อให้มีการวางแผนร่วมกันในการเพิ่มมูลค่าการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาบริเวณชายแดน 

ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาไทยมากเป็นอันดับหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการยกเว้นการยื่น แบบฟอร์ม ตม.6 ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 เมษายน 2567 ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการในการเข้า-ออกประเทศไทยของนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่นักท่องเที่ยวไทยพบเจอ คือ ระบบคมนาคมขนส่งและการเดินทางในฝั่งมาเลเซียไม่เพียงพอ ไทยจึงหวังว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross Border Transport pf Passengers) จะสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ในเวลาอันใกล้ แต่ไทยยังมีการเข้าถึงที่จำกัด จึงขอให้ทางมาเลเซียช่วยพิจารณาอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งมาเลเซียยินดีรับนักท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว จะให้นักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวเดินทาง เพื่อประโยชน์ร่วมกัน

ด้านการเกษตร รัฐบาลไทยมีแผนจัดตั้ง “กรมฮาลาล” ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยจะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและความถูกต้องของสินค้าและอาหารฮาลาลด้วย โดยจะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งมาเลเซียพร้อมร่วมมือ เพราะอาหารฮาลาลเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร

ด้านความมั่นคงชายแดน ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าเถื่อนข้ามชายแดนไทยและมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและมาเลเซีย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่า ดำเนินการอย่างเข้มข้น หยุดการลักลอบให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ด้านโครงการก่อสร้างเชื่อมโยงชายแดน ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังให้มีโครงการเชื่อมโยงตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของ 1) ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และ 2) สะพานสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับ รันเตาปันจัง แห่งที่ 2 รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยมาเลเซียจะช่วยเร่งรัดการก่อสร้างถนนฝั่งมาเลเซีย สำหรับการก่อสร้างสะพานสุไหง โก-ลก ไทยและมาเลเซียได้ตกลงแล้วทางด้านหลักการ ทั้งสองฝ่ายจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียหวังว่า การหารือระหว่างกันในวันนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชายแดนของทั้งสองประเทศ 

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียได้เดินทางไปสำรวจจุดเชื่อมถนนเพื่อเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ โรงแรม Vista ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะเดินทางไปสำรวจด่านบูกิตกายูฮิตัมในฝั่งของมาเลเซียในช่วงบ่ายต่อไป