In Bangkok

กทม.แจ้งตำรวจกวดขันจับปรับ'ไรเดอร์' ทางเท้าซ.สุขุมวิท26/ถ.เทพรักษ์ถูกลืม



กรุงเทพฯ-กทม.โดยเขตคลองเตยประสานตำรวจกวดขันจับปรับไรเดอร์ทางเท้าซอยสุขุมวิท 26 ขณะที่ปากทางถนนเทพรักษ์ออกไปถนนพหลโยธิน ทั้งมอเตอร์ไซด์ไรเดอร์และรับจ้างขับแข่งกันบนฟุตบาททั้งตามเลนและสวนเลน ผู้สัญจรบนฟุตบาทเดินเท้าจากรถบีทีเอส ระแวงหนักหวั่นอันตราย ชี้กระเบื้องทางเท้าก็แตกไม่ซ่อมและป้ายรถเมล์กลายเป็นที่พักแรมของคนจรจัดไปแล้ว

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและระบุข้อความถนนในซอยสุขุมวิท 26 ทั้งทางเท้าและบนผิวจราจรมีไรเดอร์จำนวนมากจอดรถทั้งสองฝั่ง สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรอย่างมากว่า สำนักงานเขตคลองเตย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง มีประชาชนมารับประทานที่ร้านเต็มทุกที่นั่งและมีไรเดอร์จำนวนมากมารอรับอาหารที่สั่ง โดยจะจอดรถจักรยานยนต์บนผิวจราจร ขณะตรวจสอบไม่พบว่า มีการจอดรถบนทางเท้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานแจ้งเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าวทราบถึงปัญหาการจอดรถกีดขวางการสัญจรของไรเดอร์ พร้อมเสนอแนะให้ร้านจัดหาสถานที่บริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นที่จอดรถของไรเดอร์ ซึ่งเจ้าของร้านรับทราบและจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสานแจ้งสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อให้กวดขันรถที่จอดกีดขวางการจราจรภายในซอยสุขุมวิท 26 พร้อมทั้งจะได้ตรวจสอบร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจ เพื่อกวดขันไม่ให้ไรเดอร์จอดรถกีดขวางการสัญจรของประชาชน

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตคลองเตยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจับ-ปรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าบริเวณสุขุมวิท 26 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดให้จับกุมและดำเนินคดีทันที รวมทั้งประสานความร่วมมือจัดทำเสากั้นรถจักรยานขับขี่บนทางเท้าและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI ตรวจจับผู้กระทำผิดบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกัน สนท.ได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดซึ่งประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยให้พิจารณาดำเนินการในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค.61 - 8 พ.ย.66 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวน 55,552 ราย เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 62,257,700 บาท

นอกจากนั้น กทม.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทผู้ให้บริการรับ-ส่ง อาหารและสินค้า (Rider) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า นำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจรอันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดย กทม.จะจัดส่งข้อมูลที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI (Artificial Intelligence) ภาพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า และอ่านหมายเลขป้ายทะเบียน พร้อมแยกประเภทของพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า ตามลักษณะการแต่งกายที่ปรากฏตามภาพให้บริษัท เพื่อให้บริษัทตรวจสอบและกวดขัน กำกับ ดูแล หรือดำเนินการตามความเหมาะสมไม่ให้พนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้ากระทำผิดกฎหมายซ้ำอีก หรือดำเนินการตามมาตรการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้านำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจร อันเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคมที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ

อนึ่ง มีประชาชนในพื้นที่ปากทางของถนนเทพรักษ์ได้ร้องเรียนผ่านกลุ่มเพจสะพานใหม่ ถึงรถจักรยานยนต์ หันมาใช้ฟุตบาทแทนถนนในบริเวณถนนเทพรักษ์ปากทางออกถนนพหลโยธินตั้งแต่สะพานแบ่งเขตสายใหม่กับเขตบางเขน มีจักรยานยนต์ทั้งรับจ้างและส่งของ(ไรเดอร์)ในช่วงเช้าและเย็นวิ่งแข่งกันบนฟุตบาทจนทำให้ผู้ไป-กลับใช้บริการรถไฟฟ้าBTS ซึ่งสัญจรบนฟุตบาททั้งไป-กลับได้รับความเดือดร้อนและหวั่นเกิดอันตราย

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามผู้สัญจรประจำบนเส้นทางนี้ เปิดเผยว่า ได้ใช้ฟุตบาทเป็นเส้นทางสัญจรไป-กลับเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปทำงานทุก เห็นว่า มีจักรยานยนต์ใช้ทางเท้าทุกวัน บางวันเจอกดแตรไล่คนเดินทางเท้าอีก ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ถึงแม้ทางกทม.จะขึ้นป้ายมีกล้องวงจรปิด AI แต่ก็ไม่เป็นที่เกรงกลังของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และที่สำคัญตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ทางเท้าเพื่อไปขึ้นรถบีทีเอสมาหลายเดือน ยังไม่เห็นตำรวจหรือเจ้าหน้าของกทม.มาตรวจสอบเลย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทั้งเขตบางเขนและสายใหม่เข้มงวดกวาดขัน บางเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้า ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากมีคอนโดฯเกิดขึ้นมากและที่สำคัญไม่มีรถเมล์ให้บริการ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทางผู้สื่อข่าวได้ ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางดังกล่าว ตั้งซอยเทพรักษ์20 ไปจนถึงปากทางพหลโยธิน ปรากฎว่า พบจักรยานยนต์มาใช้ทางเท้าเป็นช่วงๆ ทั้งรถไดเดอร์และมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ทั้งสวนเลนและตามเลน อีกอย่างทางเท้าดังกล่าว ยังพบกระเบื้องทางเดินและทางจักรยานแตกร่อนเป็นหลุมหลายจุด อาจเกิดจากรถจักรยานยนต์มาใช้และขับเร็วๆจนกระเบื้องแตก ซึ่งได้สอบถามชาวบ้านที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงบอกว่า มีปัญหามาเป็นปีแต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เขตเข้ามาแก้ไขแต่อย่างไร นอกจากนี้ ยังพบป้ายรถเมล์ที่สร้างมาพร้อมกับถนน ปรากฎว่า ไม่มีรถเมล์วิ่งให้บริการ ป้ายดังกล่าวจึงกลายเป็นที่พักของคนจรจัด 

อยากให้กทม.โดยเฉพาะเขตบางเขนและเขตสายไหม ลงมากวดขันและตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกของประชาชน