EDU Research & ESG
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเปิดตัวแนวทาง พัฒนาโรงเรียนทั้งระบบแบบองค์รวม
กรุงเทพฯ-งาน Empowering Today’s Learners for Tomorrow’s Challenges ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University Press: OUP) ร่วมกับหน่วยงานวัดระดับการศึกษานานาชาติ OxfordAQA ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้มีการเปิดตัวแนวทางพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole-School Approach: WSA) ภายใต้การเรียนการสอนแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตนักเรียนเป็นหลักสำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 2-19 ปี โดยแนวทางดังกล่าวเป็นการผสาน หลักสูตร Oxford International Curriculum และหลักสูตรสอบวัดระดับความรู้มาตรฐานสากล OxfordAQA International Qualifications เข้าด้วยกัน
คุณแอนดรูว์ คูมบ์ (Andrew Coombe) กรรมการผู้จัดการของ OxfordAQA เปิดเผยว่า ในยุคปัจจุบันที่ทั้งโลกมีความเชื่อมโยงกันและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แวดวงการศึกษาก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน โดยการศึกษาในอนาคตจะไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการได้รับความรู้ แต่จำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพให้นักเรียนปรับตัวได้ไว มีทักษะที่เหมาะสม และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานในอนาคตได้
“หลักสูตร Oxford International Curriculum มีความสอดคล้อง ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันในการมุ่งเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมสำหรับการสอบ OxfordAQA International GCSEs, AS และ A-levels ด้วยแนวทางการเรียนการสอนแบบองค์รวมซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรที่ครอบคลุม ทรัพยากรระดับโลก การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการสอบวัดระดับความรู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทำให้มั่นใจได้ว่านักเรียนจะได้แสดงศักยภาพสูงสุดของตน ทั้งนี้ นักเรียนที่ผ่านการสอบวัดระดับความรู้ OxfordAQA International Qualifications ไม่เพียงประสบความสำเร็จในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติ แต่ยังได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษาทั่วโลก การเรียนการสอนแบบองค์รวมที่ผสานทั้งหลักสูตร Oxford International Curriculum และหลักสูตร OxfordAQA International Qualifications เข้าด้วยกันจึงเป็นหนทางที่จะนำนักเรียนไปสู่ความสำเร็จ ” คุณแอนดรูว์ กล่าว
อนึ่ง หลักสูตร Oxford International Curriculum เปิดตัวทั่วโลกเป็นครั้งแรกในปี 2564 โดยปัจจุบันมีการนำไปใช้แพร่หลายในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศไทยและในสถาบันการศึกษามากกว่า 100 แห่งทั่วโลก หลักสูตรนี้ออกแบบขึ้นโดยมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนพัฒนาทักษะและทัศนคติสากลผ่านวิชาหลักต่างๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งยังมุ่งเตรียมผู้เรียนสำหรับการสอบรับรองคุณวุฒิ International GCSEs, AS และ A-levels
ทั้งนี้ Oxford International Curriculum เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนวิชาต่างๆ โดยเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมด้วย ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับหลักสูตรสอบวัดระดับความรู้มาตรฐานสากล OxfordAQA International Qualifications ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนนานาชาติ โดยการสอบวัดผลต่างๆ มุ่งให้ความสำคัญกับทักษะเฉพาะรายวิชามากกว่าความรู้ทางวัฒนธรรมและความสามารถทางภาษา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประเมินผลอย่างเท่าเทียมและยุติธรรมของ OxfordAQA
คุณเบน มอร์ลีย์ (Ben Morley) ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสนับสนุนการเผยแพร่หลักสูตรคุณภาพสูงของอังกฤษให้แก่สถาบันการศึกษาของไทยที่มุ่งพัฒนาศักยภาพไปสู่ระดับโลก โดยหลักสูตรและการสอบวัดระดับความรู้ที่นำมาใช้มีจุดเด่นในการส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนพัฒนาก้าวหน้าไปตามเป้าหมายของตนเองทางด้านการศึกษาและอาชีพ ทั้งนี้ ผมมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดการร่วมพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาของไทยมากขึ้น”
ทั้งนี้ ในงาน Empowering Today’s Learners for Tomorrow’s Challenges ยังได้มีการประกาศรางวัล OxfordAQA Student Achievement Awards ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติหนึ่งใน OxfordAQA Go Further Awards ที่มอบให้กับนักเรียนผู้ทำคะแนนได้สูงสุดแต่ละสาขาวิชาในการสอบรับรองคุณวุฒิ International GCSEs, AS และ A-levels ซึ่งจัดโดย OxfordAQA สำหรับประเทศไทย ฟีนิกซ์ อลิซาเบธ ซิมส์ (Phoenix Elizabeth Sims) จากโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ประเทศไทย (Rugby School Thailand) เป็นผู้คว้ารางวัล OxfordAQA Student Achievement Award ประจำปี 2566 จากการสอบวิชาชีววิทยา International GCSE Biology ได้คะแนนสูงสุดระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนในประเทศไทยที่ทำคะแนนได้สูงสุดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการสอบ International A-level จำนวน 11 คน, จากการสอบ International AS จำนวน 9 คน และจากการสอบ International GCSE จำนวน 12 คน