In Bangkok

กทม.เตรียมมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน การระบาดโรคทางเดินหายใจใกล้ชิด



กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในพื้นที่กรุงเทพฯ และการเตรียมความพร้อมรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจว่า สนอ.ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคปอดอักเสบ หากพบผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวนมากผิดปกติให้สอบสวนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและควบคุมโรคต่อไป ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้สูงอายุเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของบุตรหลาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุภายในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด 19 โรคจากเชื้อไวรัส RSV และโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคปอดอักเสบ โดยเน้นย้ำเรื่องการดูแลสุขอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยใช้สื่อออนไลน์ แผ่นพับ ตลอดจนการให้สุขศึกษาในโรงเรียนโดยพยาบาลอนามัยโรงเรียน เน้นย้ำให้คัดกรองเด็กทุกคนก่อนเข้าโรงเรียนทุกวัน หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูกให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อ และหมั่นเช็ดถูทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ผิวสัมผัสร่วมอย่างสม่ำเสมอทั้งในโรงเรียนและสถานดูแลผู้สูงอายุ

นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวว่า สนศ.มีมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจของโรงเรียนในสังกัด กทม.โดยประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทราบ และดำเนินการตามหนังสือ เรื่อง การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ของโรงเรียนในสังกัด กทม.ซึ่งได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อมและความสะอาด พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียนในสังกัดดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียนสังกัด กทม.อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการของสำนักอนามัย ดังนี้ (1) หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด หรือเจลล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หลังการขับถ่าย และการเล่นของเล่น ตัดเล็บให้สั้น ซึ่งเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้ดี (2) กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลด้วยวิธีที่ถูกต้อง ดูแลรักษาและทำความสะอาดอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และของเล่นต่าง ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาด (3) รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม และควรใช้ช้อนกลางรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน และขวดนมร่วมกับผู้อื่น และ (4) หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนในช่วงที่มีการแพร่ระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี (5) หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ (6) เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่น ๆ