In News
'สมศักดิ์'รุกเยือนมาเลย์หารือรองนายกฯ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกัน
“สมศักดิ์” ยกคณะ เยือนมาเลเซีย หารือรองนายกฯ-รมต.มาเลเซีย ถกพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกัน จ่อตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อส่งเสริมการค้า พร้อมจับมือแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนความมั่นคง ยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูล ชม หลัง”นายกฯเศรษฐา”พูดคุยนายกฯมาเลเซีย ทิศทางดีขึ้น
วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชานแดนภาคใต้(กพต.) พร้อมด้วย นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส ได้เดินทางเยือน กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าพบคณะภายใต้การนำของ ดาโต๊ะ ซะรี ฟาลิดา ยูโซฟ (DATO’SRI HAJI FADILLAH BIN HAJI YUSOF) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้า ประเทศมาเลเซีย DATUK CHAN FOONG HIN รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร และ YB DATUK MOHAMAD BIN ALAMIN รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้ง คณะภายใต้การนำของ ดาโต๊ะ สิรี ดร. อาหมัด ซาฮิด ฮามีดี (YAB Dato Seri Dr. Ahmad Zahid Hamidi) รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพื่อขอรับคำแนะนำ แนวทางและประสบการณ์ที่นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซีย
โดยนายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า การเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียในวันนี้ สืบเนื่องจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการหารือกันอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทั้งสองประเทศ จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชายแดน โดยจากการหารือ รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ให้คำแนะนำด้านการศึกษา ซึ่งขอให้ไทย ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษากับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะเป็นโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร ให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการมีโปรแกรมการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อป้อนคนเข้าสู่การทำงานในทางเศรษฐกิจมากขึ้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุน ทางมาเลเซีย มีข้อเสนอต้องการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนของประเทศมาเลเซีย ไปลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ในลักษณะของพื้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของพื้นที่ทั้งสองประเทศ เพราะการมีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่พัฒนาร่วมกัน จะทำให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างหลากหลาย รวมถึงจะนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทางมาเลเซีย แนะนำการส่งเสริมการค้าขายที่เป็นไปโดยถูกต้อง และลดเงื่อนไขข้อจำกัดทางกฎหมายให้มากขึ้น เช่น การกำหนดเขตสินค้าปลอดภาษี หรือ สินค้านำเข้าต่างๆ ที่ประชาชนของทั้งสองประเทศ มีความต้องการร่วมกัน จึงมีข้อแนะนำให้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเขตเศรษฐกิจ และการกำหนดสำนักงานเขตพัฒนาร่วมไทยมาเลย์ เพื่อผลักดันกระบวนการทำงานต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งคณะกรรมการ จะเป็นกลไกสำคัญ ที่ผลักดันการทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาอุทกภัย เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้รับการมอบหมายให้เป็นประธานในส่วนของการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอสำคัญในส่วนของการวางแผนการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ร่วมชายแดนไทยมาเลเซีย โดยเฉพาะการทำแผนการจัดการป้องกันระบบน้ำท่วม การทำแผนอพยพย้ายประชาชนของทั้งสองประเทศ ในกรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมกระทันหัน หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ โดยจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและกระบวนการทำงานร่วมกันของทั้งสองประเทศ ผ่านแผนปฏิบัติการที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทั้งสองประเทศ ประสบปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน ซึ่งตนในฐานะกำกับดูแล สทนช. ก็สนับสนุนที่จะดำเนินการส่วนของการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติแห่งชาติร่วมกัน โดยถือว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทั้งสองประเทศ จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“ส่วนเรื่องความมั่นคง มีความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น อาทิ การให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ในกรณีของการเข้าเมือง เพื่อหลบหนีข้อกฎหมายจากการกระทำผิดกฎหมายในประเทศนั้น ความร่วมมือการแก้ไขปัญหายาเสพติด และความมั่นคงอื่นๆซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงาน หรือ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือและวางแผนร่วมกันต่อไป โดยการพูดคุยหารือในครั้งนี้ เป็นไปในทิศทางที่ดี หลังท่านเศรษฐา ได้เดินทางไปหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจากคำมั่นของรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน ที่จะดำเนินการทำทุกสิ่งเพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง และมาเลเซียพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในทุกประเด็นตามที่นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้มีการศึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันในการทำงาน 4 ประเด็นได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเกษตร ผมจึงมั่นใจว่า จะทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นอย่างแน่นอน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว