In Global

เผยจีนขับเคลื่อนเส้นทางสายไหมสีเขียว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน



“เส้นทางสายไหมสีเขียว” เป็นหนึ่งในแผนของการขับเคลื่อนโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการพัฒนาในประเทศต่างๆ ด้วยแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน  สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ของสหประชาชาติ ที่ประเทศต่างๆ กว่า 190 ร่วมลงนามเห็นชอบให้ดำเนินการ่วมกัน อีกทั้งจีนยังมีแผนในการพยายามบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดภายในปี ค.ศ. 2030 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2060  เพื่อร่วมแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่ผ่านมา จีนดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่างๆ ในโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง  อาทิในช่วงปลายปีค.ศ. 2018 จีนได้เปิดตัวหลักการการลงทุนสีเขียว (GIP) สําหรับโครงการที่จะดำเนินการภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)  ซึ่งมีแนวทางของการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศและภูมิภาคที่เข้าร่วมในโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง  ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งพันธมิตรชาวจีนและต่างประเทศมากกว่า 150 รายจากกว่า 40 ประเทศ  ต่อมาในช่วงกลางปีค.ศ. 2021 จีนเผยแพร่แนวทางการพัฒนาสีเขียวและแนวทางการคุ้มครองระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สำหรับจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง  

ตามแผนการพัฒนาเส้นทางสายไหมสีเขียวดังกล่าว ทำให้จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานในภูมิภาคให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดการลงทุนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินและเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานสีเขียว  โดยปีที่ผ่านมา จีนส่งเสริมการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกต่างๆ ในภูมิภาค เพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน ในปีค.ศ. 2022 จีนยังครองอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก คิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก และ 50 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตกังหันลมทั่วโลก 

จีนยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว  เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Lower Stung Russei Chrum ในจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา สร้างโดยบริษัทไฟฟ้าขนาดใหญ่ของจีน   เริ่มใช้งานตั้งแต่กลางปี 2022 ซึ่งสร้างพลังงานสะอาดได้มากกว่า 8.4 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง  เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยทำให้กัมพูชาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น

นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในภาคพลังงานหมุนเวียน  เช่น โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่หวายหนาน (Huainan)  มณฑลอานฮุย ที่เริ่มโครงการตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ 160,000 แผง เป็นแหล่ง จัดเก็บพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่ทางน้ำขนาดใหญ่ ช่วยผลิตไฟฟ้าได้ 150 เมกะวัตต์ต่อปี 

นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งที่จีนได้ทำตามแผน และจีนยังอยู่บนเส้นทางของการขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียว ที่ทำให้โครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นโครงการที่สร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวให้กับประเทศในภูมิภาคต่างๆ 
----------------
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
อ้างอิง : China Daily