Travel Sport & Soft Power

เปิดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่2566 CEAยกระดับงานออกแบบภาคเหนือ



เชียงใหม่-2 ธันวาคม 2566 - สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ นักสร้างสรรค์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมเปิด “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” หรือ “Chiang Mai Design Week 2023” (CMDW2023) อย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 2 - 10 ธันวาคม 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมเปิดงาน ชูเทศกาลฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคเหนือ พร้อมต่อยอดสินทรัพย์ท้องถิ่น ผสานเข้ากับงานออกแบบที่ร่วมสมัย กลมกลืนไปกับบริบทของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมเทศกาลฯ คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมกว่า 150,000 คน ตลอด 9 วันของการจัดเทศกาลฯ

เทศกาลฯ ในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ นำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่มีมายาวนานให้ร่วมสมัยเข้ากับบริบทปัจจุบัน ที่จะเพิ่มโอกาสให้เมืองเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ เป็นเมืองแห่งโอกาสที่ทุกคนสามารถลงทุนต่อยอด ฟื้นฟูให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ โดยเทศกาลฯ เชิญชวนผู้คนท้องถิ่นให้กลับมาเยือนเหย้า ทั้งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ นักพัฒนาเมือง ผู้ประกอบการให้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง สะท้อนศักยภาพด้านงานออกแบบของเชียงใหม่ผ่านสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารท้องถิ่น (Local Food) งานฝีมือหัตถกรรม

(Craft) งานออกแบบ (Design) และดนตรี (Music) ช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตและสร้างโอกาสการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 ไปพร้อมกับการใช้นโยบายของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ประสบความสำเร็จด้วยดีมาตลอดระยะเวลา 8 ปี ปีนี้รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริม Soft Power อย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้มีการจัดงาน “เฟสติวัล” เพราะเล็งเห็นว่าการจัดงานเทศกาลจะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่รวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี อาหาร สถานที่ งานศิลปะ ฯลฯ ไว้ในงานเดียวกันได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย พร้อมเสริมสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ในอนาคต

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับในปีนี้ เชียงใหม่มีแผนส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “Chiang Mai The Greatest Change สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ซึ่งสอดรับกับจุดประสงค์และเป้าหมายของการจัด “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดียิ่งขึ้น โดยใช้งานออกแบบสร้างสรรค์ภายใต้       เทศกาลฯ ที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในภาคเหนือได้คาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวสู่ภาคเหนือเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน และจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.86 แสนล้านบาท

ด้าน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเทศกาลฯ ในปีที่ 9 นี้ จะเป็นการสะท้อนและตอกย้ำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว และความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ธีม ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ผ่านการจัดกิจกรรมกว่า 200 โปรแกรม กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนศักยภาพด้านงานออกแบบของเชียงใหม่ โดยนำเสนอผ่าน 3  คอนเซ็ปต์ ได้แก่ 1) ‘เชียงใหม่คืนถิ่น’ (Homecoming) โดยการจัดนิทรรศการและอีเวนต์ต่าง ๆ ที่รวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหลากหลายวงการ มาช่วยกันคิดต่อยอดให้เชียงใหม่เติบโตอย่างสร้างสรรค์ โดยจะมีทั้งนิทรรศการ งานหัตถกรรมร่วมสมัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตประจำวันตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ 2) ‘ท้องถิ่นเชียงใหม่ยั่งยืน’ (Local Sustainable Living) กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่

ได้แก่ ย่านช้างม่อย-ท่าแพ และย่านกลางเวียง นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างประสบการณ์การใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นมาต่อยอดให้เกิดมูลค่า และ 3) ‘โอกาสใหม่ของเชียงใหม่’ (New Opportunities) การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะ นอกจากนี้ยังมีการจัดบรรยากาศย่านสร้างสรรค์ที่ชวนให้นึกถึงอดีตของย่านเมืองเก่า และยังมีการจัดแสดงดนตรีสดจากศิลปินไทยและต่างชาติ การจัดมหกรรมตลาดที่รวบร้านค้างานหัตถกรรมคัดสรรคุณภาพ และงานดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์

การจัดเทศกาลฯ ที่กล่าวมานี้ยังจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน การสร้างธุรกิจใหม่ การสร้างสรรค์ การออกแบบที่ทันสมัย ต่อยอดการค้าการลงทุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ในบริเวณย่านช้างม่อย-ท่าแพ ย่านกลางเวียง (พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่น-ล่ามช้าง) และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการผลักดัน Soft Power ไทยจากรัฐบาลให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้เทศกาลฯ ยังสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์อีกด้วย

 

แล้วมาร่วมเต็มอิ่มบรรยากาศสร้างสรรค์ของ “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” หรือ “Chiang Mai Design Week 2023” (CMDW2023) ภายใต้ธีม ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ตั้งแต่วันนี้ - 10 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ย่านช้างม่อย-ท่าแพ ย่านกลางเวียง (POP Market พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่น-ล่ามช้าง) และพื้นที่อื่น ๆ เช่น ย่านหางดง-De Siam Antiques Chiangmai, ย่านสันกำแพง-MAIIAM Contemporary Art Museum ฯลฯ