In News

'รมว.พิมพ์ภัทรา'ถกกรรมอีวีอนุมัติ2เรื่อง 'การรีไซเคิลแบตฯเก่า-ดัดแปลงรถขนขยะ'



กรุงเทพฯ-รมว.พิมพ์ภัทรา ถกร่วมกรรมการอีวี หารือแนวทางจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ ย้ำธง Local Content ดันศักยภาพบุคลากรไทย

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องวางแผนนโยบายและมาตรการให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารจัดการแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) จากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

โดยในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้เห็นชอบในหลักการของการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า สนองแนวนโยบาย BCG ทั้งยังเอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ (EV Conversion) สำหรับยานยนต์ที่ใช้ในพื้นที่จำกัด อาทิ รถขยะ รถของหน่วยงานราชการเพื่อบริการสาธารณะ เพื่อให้สามารถดัดแปลงไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งยังเป็นต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปให้สามารถปรับสู่การเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งผลักดันสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรในประเทศ (Local Content) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีข้อเสนอให้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ให้สามารถบังคับใช้และเกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การกำหนดสัดส่วนวิศวกรชาวไทยร่วมดำเนินงานในกรณีที่มีการใช้วิศวกรจากต่างชาติปฏิบัติงานในโครงการ เพื่อให้เป็นแบบแผนและสามารถขยายผลในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย 

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น