In Global

'จีดีเอส'คว้าเงินทุนหนุนโครงการสีเขียว 1.27พันล้านริงกิตพัฒนาศูนย์ข้อมูล



ยะโฮร์บาห์รู มาเลเซีย, 12 ธ.ค. 2566 จีดีเอส (GDS) ผู้พัฒนาและดำเนินการศูนย์ข้อมูลสมรรถนะสูงระดับแถวหน้า ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทฯ ได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมรวม 1.27 พันล้านริงกิตมาเลเซีย จากธนาคารยูโอบี มาเลเซีย (UOB Malaysia) แบงค์ออฟไชน่า มาเลเซีย (Bank of China (Malaysia) Berhad) ธนาคารโอซีบีซี มาเลเซีย (OCBC Bank (Malaysia) Berhad) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มาเลเซีย (Standard Chartered Bank (Malaysia) Berhad)

การจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับจีดีเอสในครั้งนี้มีวงเงินมากที่สุดเท่าที่ทางบริษัทฯ เคยได้มา โครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญในมาเลเซีย แต่ยังชูให้เห็นความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของจีดีเอส และตอกย้ำผลกระทบเชิงบวกในภูมิภาค โดยจะนำเงินทุนที่ได้ไปพัฒนาแคมปัสศูนย์ข้อมูล ที่นูซาจายา เทค พาร์ค (Nusajaya Tech Park หรือ NTP) พล็อต 1 ในรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ให้เสร็จสิ้น ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วงเงินกู้ยืมระยะยาวที่ได้มานี้ยังได้รับรางวัล “ข้อตกลงสินทรัพย์ที่ดีที่สุด” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงานไฟแนนซ์เอเชีย อะชีฟเมนต์ อวอร์ดส์ (FinanceAsia Achievement Awards) ประจำปี 2566 ด้วย

ธนาคารยูโอบี มาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานแต่เพียงผู้เดียว และร่วมกันทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สิงคโปร์) จำกัด นอกจากนี้ ธนาคารยูโอบี มาเลเซีย ยังร่วมกันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วมและผู้จัดการการจัดจำหน่าย (MLAB) ร่วมกับแบงค์ออฟไชน่า มาเลเซีย, ธนาคารโอซีบีซี มาเลเซีย และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สิงคโปร์) จำกัด

คุณวิลเลียม หวง (William Huang) ประธานกรรมการและซีอีโอของจีดีเอส กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นในการประกาศความร่วมมือกับธนาคารที่มีชื่อเสียงและมีความคิดก้าวหน้าเหล่านี้ การสนับสนุนของพวกเขาจะทำให้สินเชื่อสีเขียวเหล่านี้เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจของเราด้วยพลังงานสีเขียว เพิ่มขีดความสามารถให้เราขยายการเข้าถึงและเริ่มต้นการเดินทางที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่เรากำหนดเป้าหมายไปสู่อนาคต เราปรารถนาที่จะกระชับความสัมพันธ์กับองค์กรทางการเงินในท้องถิ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยบ่มเพาะระบบนิเวศแบบไดนามิกที่สนับสนุนความก้าวหน้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาค”

คุณอึ้ง เว่ย เว่ย (Ng Wei Wei) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี มาเลเซีย กล่าวว่า “มาเลเซียยังคงได้รับประโยชน์จากการกระจายตัวของซัพพลายเชนทั่วโลก การลงทุนจำนวนมากในศูนย์ข้อมูลถือเป็นข้อพิสูจน์ศักยภาพของมาเลเซียในการเป็นฮับศูนย์ข้อมูลแห่งสำคัญในเอเชีย ธนาคารยูโอบีสนับสนุนจีดีเอสในระดับภูมิภาคผ่านการเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งของเรา และเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานแต่เพียงผู้เดียวและเป็น MLAB สำหรับการร่วมลงทุนครั้งแรกในมาเลเซีย การจัดหาเงินทุนสนับสนุนศูนย์ข้อมูลสีเขียวที่ล้ำสมัยของจีดีเอสนั้น ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนความทะเยอทะยานและเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ของมาเลเซีย เพื่อก้าวขึ้นเป็นฮับศูนย์ข้อมูลชั้นนำของภูมิภาค นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเราในการช่วยให้ลูกค้าพัฒนาก้าวหน้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวด้วย”

คุณตัน ไอ ชิน (Tan Ai Chin) กรรมการผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ธนาคารอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารโอซีบีซี (มาเลเซีย) กล่าวว่า “เรามีความยินดีในการสนับสนุนจีดีเอสสู่ความยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความปรารถนาที่จะเป็นผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูลรายแรกที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคนี้ โดยใช้พลังงานทดแทนได้ทั้ง 100% ภายในปี 2573 ธนาคารโอซีบีซีอยู่ในแถวหน้าในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งมีบทบาทขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเงินในเชิงรุกและก้าวหน้า โดยสร้างสรรค์โซลูชันทางการเงินที่มีประสิทธิภาพซึ่งส่งเสริมและจูงใจให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและยั่งยืน เรามั่นใจว่าความร่วมมือกับจีดีเอสมีศักยภาพมหาศาลในการมอบประโยชน์ต่อมาเลเซีย เพราะความร่วมมือนี้จะช่วยเร่งให้เศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซียเติบโต”

คุณมัก จุน เนียน (Mak Joon Nien) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (มาเลเซีย) กล่าวว่า “ความยั่งยืนเป็นเสาหลักสำคัญของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และเราให้การสนับสนุนลูกค้าที่ตัดสินใจทางธุรกิจและลงทุนเพื่อผลกระทบเชิงบวก โดยเรากำลังเข้ามามีบทบาทในฐานะตัวกลางหลักในระบบการเงิน เพื่อให้เงินทุนไปถึงโครงการที่เหมาะสมและผลักดันแรงกระตุ้นให้เดินหน้าต่อไป”

แคมปัสศูนย์ข้อมูลจีดีเอส ที่นูซาจายา เทค พาร์ค เฟส 1 ครอบคลุมพื้นที่รวม 30,312 ตารางเมตร และมีกำลังด้านไอที 69.9 เมกะวัตต์ แคมปัสนี้ได้เปิดรับแนวคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนที่น่าทึ่งมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โครงสร้างพื้นฐานสำเร็จรูปและโซลูชันระบายความร้อนด้วยของเหลว การนำการออกแบบสำเร็จรูปที่ล้ำสมัยมาใช้นั้นช่วยให้ส่งมอบ NTP1 ได้อย่างรวดเร็วภายในกรอบเวลา 14 เดือน ซึ่งช่วยลดภาระงานในการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้กระบวนการส่งมอบทั้งหมดคล่องตัวขึ้น

ในขณะเดียวกัน การนำเทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยของเหลวมาใช้ช่วยลดการใช้พลังงาน (PUE) ได้อย่างมาก จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวม โซลูชันทางการเงินที่ยั่งยืนนี้ทำให้จีดีเอสพร้อมส่งเสริมโซลูชันคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่ล้ำสมัย และมุ่งคว้าการรับรองโกลด์ ลีด (Gold LEED) ให้อาคารทั้งหมดภายในแคมปัส