In Bangkok

กทม.จับมือจุฬาฯ-สสส.ชู3โครงการเรือธง พัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี 



กรุงเทพฯ-(13 ธ.ค.66) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Walkable Bangkok : กรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี ณ ห้องประชุม Amber 1-3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจะทำให้กรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี นั้น เริ่มต้นจากการแก้ปัญหา 10 อันดับปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม. แก้ไขอย่างเร่งด่วน 1. ปัญหาถนนและทางเท้าชำรุด เฉลี่ย 52.80% 2. ปัญหาน้ำท่วมขัง เฉลี่ย 10.94% 3. ปัญหาความปลอดภัยบนทางม้าลาย เฉลี่ย 9.10% 4. ปัญหาฝุ่นPM 2.5 และมลพิษอื่นๆ เฉลี่ย 8.59%  5. ปัญหากล้องวงจรปิดและไฟส่องสว่างไม่ทั่วถึงทางสัญจร เฉลี่ย 5.60% 6. ปัญหาพื้นที่สีเขียวน้อย เฉลี่ย 5.5% 7. ปัญหาค่าครองซีพสูง เฉลี่ย 4.28% 8. ปัญหาจราจรติดขัด เฉลี่ย 1.97% 9. บัญหาน้ำเน่าเสีย เฉลี่ย0.62% และ 10. ปัญหาหาบเร่ แผงลอย กีดขวางทางสัญจร เฉลี่ย 0.6% โดยปัญหาจากการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue กทม. จำนวน 337,208 รายการ เป็นเรื่องร้องเรียนด้านถนนมากที่สุด ถึง 21.1%

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อด้วยว่า กรุงเทพฯ ต้องเดินได้-เดินดี ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเดินในปัจจุบันของคนกรุงเทพฯ พบว่า 58.2% เดินเท้า+ขนส่งสาธารณะ 31.2% ยานพาหนะส่วนตัว แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯพร้อมเดินมากกว่าขับรถ แต่พบปัญหาสำคัญ 3 ด้าน ที่ท่าให้คนกรุงเทพฯ เลือกการเดินทางด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การเดินเท้า คือ 1. ปัญหาด้านความปลอดภัยในการเดิน เช่น อันตรายจากอาชญากรรม อุบัติเหตุบนทางเท้า 2. ปัญหาด้านความสะดวกสบายในการเดิน เช่น การไม่มีสถานีโดยสารประจำทางในระยะเดินเท้า ทางเดินเท้าไม่ต่อเนื่อง ทางเท้าไม่ราบเรียบ 3. ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการเดิน เช่น สภาพแวดล้อมที่ไม่สวยงาม ความสกปรกของทางเท้า 

นอกจากนี้การสร้างเมืองเดินได้-เมืองเดินดี เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้านการเดินทางของผู้คนในเมืองเพื่อ 1. อุบัติเหตุลดลง มีความปลอดภัยในการสัญจร 2. ลดการใช้รถยนต์ อันก่อให้เกิดการลดใช้พลังงาน ลด ภาวะโลกร้อน 3. ส่งเสริมให้การออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน 4. เตรียมความพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ และ 5. ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับเมืองตามมาหลายด้าน อาทิ เมืองเดินได้-คนสุขภาพดีเมืองเดินได้-ร้านขายดี  เมืองเดินได้-ท่องเที่ยวดีรวมถึงเมืองเดินได้-ย่านปลอดภัยดี ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่มีความเท่าเทียมของอายุอีกด้วย

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงทางเท้า ได้แก่ 1. ซ่อมแซมเป็นจุดตามความเสียหายตามการรับแจ้งผ่านช่องทางต่างๆ (Traffy Fondue) 2. ซ่อมแซมเป็นจุด ย้ายสิ่งกีดขวางออกจากทางเดินแนว BKK Trail 3. ซ่อมแซมทางเท้ารัศมี 1 กม. โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า 4. ซ่อมแซมเร่งด่วน ปรับปรุงทั้งเส้นกรณีเสียหายเกิน 70% ในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่น 5. ติดตามเร่งรัดการคืนผิวจราจรที่หน่วยงานสาธารณูปโภคขออนุญาตก่อสร้างและดำเนินการแล้วเสร็จ โดยกทม.ตั้งเป้าหมายการปรับปรุงทางเท้าไว้ 1,000 กม. ภายในปี 2569 

ขณะนี้ กทม. มี 3 โครงการตัวอย่างกรุงเทพฯ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี เพื่อคนกทม. ประกอบด้วย 1. การปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าถนนสุขุมวิทจากซอย 1 -107 ทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 25 กม. 2. Skywalk ราชวิถี เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ และเชื่อมต่อ 7 โรงพยาบาลหลัก จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึง ถนนพระราม 6 ซึ่งผู้ใช้งานจะเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ คนเดินได้รับมลภาวะน้อยลง ปลอดภัย และเดินสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากการมีทางเดินยกระดับที่ช่วยแบ่งเบาปริมาณคนสัญจร และ 3. Covered walkway หลังคาคลุมทางเดินกันแดดกันฝน ซึ่งอยู่ในระหว่างการสำรวจพื้นที่นำร่อง 5 เส้นทาง  

"ทางเท้าในกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ต้องเดินได้-เดินดี เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความน่าเดินด้วย จึงต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่สวยงาม ควบคู่กันไป เช่น ปลูกต้นไม้ ไฟฟ้าแสงสว่าง ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้การเดินเท้าเป็นการเดินทางกิโลเมตรแรก ที่สะดวก และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตามเป้าหมายการปรับปรุงเส้นทาง First Mile - Last Mile เชื่อมต่อการเดินทางสะดวก ปลอดภัย เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน"  รองฯ วิศณุ กล่าวในช่วงท้าย

ทั้งนี้ งาน Walkable Bangkok : กรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี จัดขึ้นโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี ประกอบไปด้วย 1. โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบทางเดินลอยฟ้าในแนวถนนราชวิถี บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกตึกชัย โดย รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และผู้จัดการโครงการฯ และนายไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด และสถาปนิกประจำโครงการฯ 2. โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดทำทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม (Covered walkway) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย รศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการฯ และนายไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด และสถาปนิกประจำโครงการฯ 3. โครงการศึกษา ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงภูมิทัศน์ทาง เท้าบนถนนสุขุมวิทจากสุขุมวิทซอย 1 ถึงสุขุมวิท 103/4 โดย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการฯ นายธัชพล สุนทราจารย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์สเคป คอลลาบอเรชั่น จำกัด และภูมิสถาปนิกประจำโครงการฯ และผศ.ดร. จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมงาน