In News
'เวิลด์แบงก์'เข้าพบ'มนพร'ทวง2โครงการ สร้าง'สะพานฯสงขลา-เกาะลันตา'สุดอืด
กรุงเทพฯ-รมช.มนพร ให้การต้อนรับ Mrs. Sudeshna Ghosh Banerjee(สุเดชนา โกช แบเนอจี) ผู้อำนวยการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประจำเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกของ World Bank เพื่ออัปเดต2โครงการที่ทางWorld Bank ให้การสนับสนุน ล่าสุดทั้ง2โครงการสุดอืด สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ยังอยู่แค่ทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ส่วนสะพานข้ามเกาะลันตา เพิ่งได้รับการเห็นชอบจากคกก.สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (14 ธันวาคม 2566) เวลา 14.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ Mrs. Sudeshna Ghosh Banerjee (สุเดชนา โกช แบเนอจี) ผู้อำนวยการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประจำเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกของ World Bank และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการด้านการคมนาคมขนส่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา โดยมี ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นางมนพร เจริญศรี กล่าวว่า ผู้อำนวยการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประจำเอเชียตะวันออก และภูมิภาคแปซิฟิกของ World Bank และคณะ ได้เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการด้านการคมนาคมขนส่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ซึ่งเป็นโครงการที่ World Bank ให้การสนับสนุนประเทศไทย
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน (Land bridge) ของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค ลดระยะเวลาและความหนาแน่นของการจราจร ผ่านช่องแคบมะละกา โดยประเทศไทยวางแผนที่จะจัดโรดโชว์นำเสนอโครงการในประเทศต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ ช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ถึงอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เหลือ 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน - อ่าวไทย และเชื่อมโยง 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวงแผ่นดิน แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ในกรณีเกิดภัยพิบัติจะสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ประสานการดำเนินโครงการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะโลมาอิรวดี กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ได้ประสานกับ 5 หน่วยงาน เพื่อจัดทำ MOU โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และนำไปสู่การปฏิบัติในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลา โดยได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
ในเบื้องต้นได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2567 - 2571 ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่ การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา การดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เพื่อปกป้องคุ้มครองโลมาอิรวดี และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ โดยก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ข้ามคลองช่องลาด เพื่อเชื่อมต่อเกาะลันตากับแผ่นดินใหญ่ ความยาวประมาณ 2,200 เมตร ปัจจุบันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์แล้ว และออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี (พ.ศ. 2568 - 2570)
ในโอกาสนี้ World Bank ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานควบคู่กับการปกป้องคุ้มครองโลมาอิรวดี และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งยินดีที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจาก World Bank มีคณะทำงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว