In Bangkok
กทม.รับฟังข้อเสนอแนะจากWorld Bank สู่แผนลงทุนด้านภูมิอากาศบรรลุปี2030
กรุงเทพฯ-กทม. รับฟังข้อเสนอแนะจาก World Bank สู่แผนลงทุนด้านภูมิอากาศ หวังบรรลุเป้าลดก๊าซเรือนกระจกปี 2030
(14 ธ.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) ร่วมประชุมกับผู้แทนบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) ในเรื่องการดำเนินโครงการศึกษาการวางแผนการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้เครื่องมือ APEX (Advance Practices for Environmental Excellence in Cities) ณ ห้องประชุม ชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
โดยในวันนี้เป็นการประชุมสรุปผลการศึกษาการวางแผนการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้เครื่องมือ APEX ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนจาก IFC ดำเนินโครงการศึกษา การวางแผนการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้เครื่องมือ APEX โดยได้มีการจัดประชุมมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมเปิดตัวโครงการฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 และการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผลการศึกษาฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ในที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อร่างผลการศึกษาอย่างกว้างขวาง และผู้เชี่ยวชาญ IFC ได้มีการประชุมหารือเพิ่มเติมกับผู้แทนสำนักการคลัง สำนักงานกฎหมายและคดีและสำนักสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาเพื่อสอบถามรายละเอียดในเชิงลึกทางด้านกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงบประมาณในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปวิเคราะห์แนวทางที่เป็นไปได้ในการจัดทำแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับกรุงเทพมหานครและนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงาน
สำหรับโครงการศึกษาการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและ IFC มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานคร ในการวางแผน จัดลำดับความสำคัญในการดำเนินโครงการ/มาตรการ และจัดหางบประมาณการลงทุนที่เหมาะสมรวมถึงการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 มีกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 และผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 2) ด้านการจัดการของเสีย 3) ด้านการขนส่ง และ 4) ด้านน้ำและน้ำเสีย ในวันนี้จึงเป็นการประชุมสรุปผลการศึกษาฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการคลัง และสำนักงานกฎหมายและคดี ร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการจัดทำแผนการลงทุน ฉบับสมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้จากผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่ากรุงเทพมหานครมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 23 ในปี พ.ศ. 2573 และผู้เชี่ยวชาญ IFC ได้เสนอแนะแนวทางของกลไกทางการเงินที่เป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการ/โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 6 แนวทาง ได้แก่ 1) การใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร (Own Revenues) 2) การออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้เทศบาล (Municipal Loans/Bond) 3) การร่วมลงทุนระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships: PPPs) 4) การทำสัญญากับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงานแบบครบวงจร (Energy Service Performance Contracts and Guarantee Fund) 5) การระดมเงินทุนผ่านการจ่ายชำระค่าสาธารณูปโภค (On-bill Financing) 6) การจัดหาเงินทุน/การกู้ยืม ผ่านธนาคารต่าง ๆ (Private Financing through Local Banks)
ในการนี้มี นางสาวหยวน ซู ผู้จัดการบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย และสาธารณรัฐเมียนมาผู้แทน IFC ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้แทนสำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการระบายน้ำ สำนักการคลัง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม