In News
เผยบอร์ดส่งเสริมรถอีวีชูแผนส่งเสริมปี67 ผลักดันรถใหญ่ดัดแปลงเป็นรถรถไฟฟ้า
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ผลักดันแผนการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมเตรียมรับเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 รักษาฐานการผลิตและศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน
วันนี้ (16 ธ.ค. 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อรักษาฐานการผลิตและศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน ควบคู่ไปกับการดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป (ICE) เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปแห่งสุดท้าย
โดยในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 มีมติเห็นชอบและรับทราบแนวทางการดำเนินงาน ทั้งความคืบหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion) แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และแนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น และได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle :BEV) คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน มูลค่า 35,303 ล้านบาท โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้ารวม 67,056 คัน เติบโตมากกว่า 690% หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาดรถ EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถกระบะ ไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก และครอบคลุมไปจนถึงการส่งเสริมการผลิตและการจัดการซากตลอดช่วงชีวิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (End of Life Vehicle :ELV)
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่
- แนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ (EV Conversion) สร้างต้นแบบการดัดแปลงรถขนาดใหญ่ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถขนขยะมูลฝอย และรถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้
- แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี เช่น พัฒนาบุคลากร SI จำนวน 1,301 คน และบุคลากรในสถานประกอบการ จำนวน 3,665 คน รวมทั้งพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 185 ต้นแบบ ซึ่งปัจจุบันมี SI ที่ขึ้นทะเบียนรายกิจการ จำนวน 121 กิจการ ผ่านกลไกศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) โดยมีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 271 กิจการ มูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท
- แนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำมาใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง
“รัฐบาลสนับสนุนและเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม EV พร้อมๆกับการดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรม รัฐบาลก็มีนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้ไทยเป็นฮับในภูมิภาค และดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ ซึ่งในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ใช้โอกาสสำคัญนี้พบปะกับผู้ประกอบการยานยนต์ของญี่ปุ่นกว่า 7 ราย เพื่อให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนา EV และยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งไทยออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ หวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICE ของญี่ปุ่นในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน” นายชัย กล่าว