In News
นายกฯโรดโชว์แลนด์บิดจ์นักลงทุนญี่ปุ่น ถกพานาโซนิค/ยันไทย-ญี่ปุ่นแนบแน่น
นายกฯ กล่าวเปิดงานสัมมนาโครงการ Landbridge และโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มความเชื่อมั่น เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงการ Landbridge โอกาสทองของนักลงทุนทั่วโลก/นายกฯ หารือ Panasonic พร้อมพิจารณาร่วมขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ในไทย/นายกฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นใจถึงใจ heart to heart เชื่อมั่นความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเครื่องยืนยันความร่วมมือในอนาคต
วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชม.) ณ ห้องซากุระ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการ Landbridge และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวของนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยสาระสำคัญจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน "Thailand Landbridge Roadshow" ในวันนี้ ย้ำว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก
โดยได้นำเสนอข้อมูลของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักลุงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา
ช่องแคบมะละกาจึงจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก รวมทั้ง การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก จึงจัดได้ว่าช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า
ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการ Landbridge เป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า
เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่าน Landbridge กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้ Landbridge ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง หรือ Feeder ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย
ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการ Landbridge ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ Landbridge ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน
สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค เมื่อมีโครงการ Landbridge ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่ Landbridge ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน
ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ Landbridge ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โครงการ Landbridge จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วัน
ดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่าน Landbridge จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของ Landbridge จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ (Conservative) และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการ Landbridge ในอนาคต
ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ Landbridge เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6%
อีกทั้งในการลงทุนโครงการนี้ นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
Landbridge จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน
นายกฯ หารือ Panasonic พร้อมพิจารณาร่วมขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ในไทย
หลังจากนั้นช่วงเวลา 10.30 น. ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว ผู้บริหารบริษัท Panasonic holdings corporation เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเพิ่มโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือกัน ดังนี้
บริษัท Panasonic เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ อุปกรณ์และระบบสำหรับ การผลิต และการขนส่ง โดยได้ดำเนินธุรกิจบริการและสนับสนุนในไทย ดังนี้
1. บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัทการค้า ระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) ศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่าง ประเทศ และกิจการสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน
2. บริษัท พานาโซนิค (ประเทศไทย) จำกัด กิจการสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน
3. บริษัท พานาโซนิค อินดัสเตรียล ดิไวซ์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและ ผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และเครื่องเชื่อมไฟฟ้า รวมถึงให้บริการติดตั้ง ซ่อม และบริการหลังการขาย
4. บริษัท พานาโซนิค แฟคทอรี โซลูชั่นส์ อินทิเกรชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทผู้ให้บริการ ไอทีโซลูชั่นส์แบบครบวงจร ทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ เพื่อการจัดการในโรงงานอุตสาหกรรม
ในโอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อพิจารณาการขยายการลงทุน โรงงานแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์และระบบกักเก็บพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต 200 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2031
โดยด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีแจ้งว่าพร้อมจะสนับสนุนการลงทุนของ Panasonic เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาป เป็นยานยนต์ EV ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านพลังงานสะอาดด้วย
นายกฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นใจถึงใจ heart to heart เชื่อมั่นความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเครื่องยืนยันความร่วมมือในอนาคต
ล่าสุดเวลา 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมASEAN-Japan วันที่ 4 พอใจมากกับผลของการเดินทางครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำ ไทย-ญี่ปุ่นหุ้นส่วนใจถึงใจ heart to heart ทุกคนพูดคุยกันด้วยรอยยิ้มความเข้าใจล้วนมีปรารถนาที่ดีต่อกัน โดยในการเดินทางครั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้คะแนนความสำเร็จจากการพูดคุยกับเอกชน 8-9 จากเต็ม 10
นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จของการเดินทางครั้งนี้ว่า ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า 60 ปีด้วยจำนวนเงินรวมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในการเดินทางครั้งนี้ได้พบกับนักธุรกิจรายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย ซึ่งผู้นำบริษัทเหล่านี้ล้วนเคยประจำที่ประเทศไทย ผู้ที่เคยประจำอยู่ที่ประเทศไทยและมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กรจะมีความลำเอียงตามธรรมชาติมีความชอบในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของการลงทุนสิ่งที่บริษัทมีความต้องการ และรัฐบาลสามารถให้ได้ในสิ่งที่เป็นพื้นฐานก็จะทำให้เกิดความสบายใจที่จะร่วมธุรกิจกัน อาทิ supply chain ความมั่นคงทางการเมือง พลังงานสีเขียว วัตถุดิบ ความตกลงทางการค้า และอีกส่วนคือชีวิตความเป็นอยู่ของการดำรงชีวิตในประเทศไทย เมื่อคนญี่ปุ่นมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีค่าครองชีพเหมาะสม มีโรงเรียนที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี มีชีวิตที่ดีในประเทศไทย ทำให้ชื่นชอบการมาดำรงชีวิตในประเทศไทย
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการลงทุนไทย-ญี่ปุ่นไม่เคยมีปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้พบกับนายนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมเอเปคเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ขอให้ไทยช่วยลดข้อจำกัดในเรื่อง visa ให้นักธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยก็จัดการให้อย่างดี
ในส่วนของ Landbridge โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเชิญชวนให้นักลงทุนมาร่วมทุนกับไทยในการทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนของการทำโครงการขนาดใหญ่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ เกิดเป็นตัวเงินหมุนเวียน การจ้างงานต่อประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจ ให้ความสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะพูดคุยกับคนในพื้นที่ และเป็นโครงการที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วย
โดยในส่วนของภาพรวมการเดินทางครั้งนี้ และการพูดคุยกับนักธุรกิจ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้คะแนน 8-9 เต็ม 10 เรียกว่าพูดคุยกับทุกบริษัทด้วยความสบายใจ อะไรทำได้ เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้บริษัท ส่วนอะไรที่ไม่ได้ก็พร้อมจะให้ทางเลือก ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอที่ร่วมทำงานกันมาอย่างดี
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่ามีอะไรที่อยากนำไปปรับปรุงในประเทศไทยบ้าง นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่าครั้งนี้มาพูดคุยเพื่อเสนอให้ญี่ปุ่นมีลงทุนในไทยมากขึ้น ให้เพิ่มการลงทุน โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องของ Soft Power packaging นำสินค้ามาเพิ่มราคาได้เป็นอย่างดี
โดยในวันนี้ ได้พบกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกครั้ง และได้พูดคุยว่า จังหวัดสระแก้วมีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากกัมพูชาจะสามารถยกระดับขึ้นได้อีก ทำให้เกิดความตกลงว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางมากรุงเทพฯ และจะประชุมเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้าชายแดน ร่วมมือเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า โดยฝ่ายกัมพูชาจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือให้เกิดการค้าการขนส่งร่วมกัน
ในส่วนของการพูดคุยกับบริษัท Panasonic ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ได้พูดคุยกันเรื่องการทำแบตเตอรี่ ซึ่ง Panasonic เป็นผู้ทำแบตเตอรี่ให้เทสล่า โดยบริษัท Panasonic กำลังพิจารณาสร้างโรงงานใหม่ มีความต้องการพื้นที่ทำโรงงาน 600 ไร่ และเห็นไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ Panasonic ลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 1961 แล้ว มีความผูกพันกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเบอร์สองของบริษัทเคยประจำการอยู่ที่ประเทศไทยมาตลอด