Travel Sport & Soft Power
นายกฯเมืองพัทยา-ตร.ท่องเที่ยวติวเข้ม! การ์ดวอล์กกิ้งสตรีทดูแลนักท่องเที่ยว
ชลบุรี-วันที่ 19 ธ.ค.66 ที่ห้องประชุมพระปัญญารัตนาภรณ์ โรงเรียนเมืองพัทยา 8 (พัทธยานุกูล) จ.ชลบุรี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ในวอล์คกิ้งสตรีท พัทยา โดยมี พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ เอนสาร สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจท่องเที่ยว 4 และเจ้าหน้าที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 2 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวน 117 คน จาก 38 สถานบันเทิงในวอล์คกิ้งสตรีท เข้าร่วมพิธี
หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งรัดสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและประเทศคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 25๖๖ ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีหนังสือสั่งการเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินให้กับนักท่องเที่ยว ระยะสั้น (กันยายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567)
ในการนี้พล.ต.ท.ศักดิ์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท. จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยวเข้มแข็ง Strong Tourism Community (S.T.C) โดยยึดหลักตามแนวทางโครงการ Smart Safty Zone มาประยุกต์ใช้ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญก่อน แล้วจึงขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นทั่วประเทศ โดยมีการสร้างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในแหล่งท่องเที่ยวนั้นตลอดจนชุมชนข้างเคียง เพื่อหาแนวทางเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนนั้นๆ โดยมีตำรวจท่องเที่ยว เป็นผู้ประสานงาน
ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา โดย พ.ต.อ.แมน รถทอง ผกก.2 บก.ทท.1 , พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ เอนสาร สวญ.ส.ทท.4 กก.2 บก.ทท.1 และ พ.ต.ต.ศุภรัตน์ มีปรีชา สว.ส.ทท.4 กก.2 บก.ทท.1 ได้ดำเนินการตามโครงการ S.T.C. สำรวจจุดที่แสงไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ สำรวจกล้องวงจรปิดของภาครัฐที่ใช้งานไม่ได้ จึงประสานสถานบริการปรับมุมกล้องหน้าร้านให้สอดรับกันทั้งถนนวอล์คกิ้งสตรีท รวมถึงรวบรวมข้อมูลแผนประทุษกรรมที่เคยเกิดกับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งปัญหาการ์ดของสถานบันเทิงในวอล์คกิ้งสตรีททำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยาเสียหาย
โครงการอบรมพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวในวอล์กกิ้งสตรีท จึงได้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ของการร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี การเพิ่มทักษะยุทธวิธีในการรักษาความปลอดภัย รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น PCR อีกทั้ง เป็นการรองรับการขยายเวลาปิดสถานบริการ 04.00 น. โดยใช้กลไกความร่วมมือของชุมชน ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก เพื่อร่วมกันดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว โดยจะจัดอบรมไปจนครบทั้งพื้นที่วอล์กิ้งสตรีท เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการดูแลรักษาความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยว เที่ยวได้อย่างอุ่น ไร้กังวลต่อไป