In Thailand

กาฬสินธุ์ตั้งเป้าก้าวสู่'จังหวัดคาร์บอนต่ำ' จ้างม.ขอนแก่นทำแผนลดก๊าซครัวเรือน



กาฬสินธุ์-สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์  เปิดศูนย์ประสานงานและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ระดับจังหวัด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายรัฐบาล หวังผลักดันให้จังหวัดกาฬสินธุ์ ก้าวไปสู่จังหวัดคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น  พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์   เป็นประธาน เปิดศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Provincial Climate Chang and Biodiversity Coordination Center : PCCB) ระดับจังหวัด โดยมีนายวิทยา ปัญจมาตย์  ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ  สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมฯ พร้อมด้วยส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

นายสนั่น  พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตามกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศ ภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 - 2570 ได้กำหนดเป้าหมาย มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยประกาศว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065

นายสนั่นกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ปี  2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ มีกลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้การให้ความสำคัญกับการปรับตัว ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างความเข้มแข็งของการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันในออกกฎหมายพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ด้านนายวิทยา ปัญจมาตย์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทุกแห่ง  จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับจังหวัด เพื่อใช้เป็นศูนย์ในการประสานงานบริการข้อมูล ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065 

นายวิทยากล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับ จ.กาฬสินธุ์ขึ้น ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดความตระหนักรู้ในวงกว้างในทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะภาคประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน

“รวมทั้งยัง จะเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือ เชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับหน่วยงานรัฐทั้งภายในและภายนอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน องค์กรพัฒนา/ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน, เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการบูรณาการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ สู่กิจกรรมต่างๆของจังหวัด ครอบคลุมการลดก๊าซเรือนกระจก การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทุกมิติ และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  การเป็นต้นแบบการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำและขยายผลไปยังองค์กรร่วมดำเนินงานอื่นๆอีกด้วย” นายวิทยากล่าว

นายประดิษฐ  สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมฯกล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับ จ.กาฬสินธุ์ ในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ในการใช้เป็นศูนย์กลางบริหารข้อมูล คำแนะนำ และข้อเสนอแนะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประสานความร่วมมือ ให้เกิดความต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ  ในการติดตาม พยากรณ์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแจ้งเตือนภัย พร้อมแนวทางปฏิบัติ ข้อเสนอแนะให้กับประชาชนและทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา รับมือ ปรับพฤติกรรม ปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 นายประดิษฐ กล่าวอีกว่าศูนย์ประสานงาน ดังกล่าวนี้ จะเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานด้านการบูรณาการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับจังหวัด ได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์กับทุกภาคส่วน  รวมทั้งประชาชนทั่วไป นอกจากนี้สามารถสนับสนุน ผลักดันให้ จ.กาฬสินธุ์เดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สนองนโยบายของรัฐบาลและของจังหวัด  ตลอดจนผลักดันให้ จ.กาฬสินธุ์ก้าวไปสู่จังหวัดคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม  จ.กาฬสินธุ์ได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมกราคม 2567 นี้ โดยเน้นให้ความสำคัญในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายให้ครอบคลุมทุกมิติ